เมื่อก่อน การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นไปในแนว “ค้นพบด้วยตัวเอง” นักท่องเที่ยวอาจจะรู้ว่าสถานที่หน้าตาเป็นอย่างไรจากภาพถ่าย งาน เขียนบทความท่องเที่ยว จากนิตยสารหรือสื่อแบบคร่าวๆ และเมื่อไปเยือนสถานที่เที่ยวด้วยตัวเอง ก็จะได้ทราบว่า “สถานที่เที่ยวจริงๆ” ในเวลานั้นเป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้ ก่อนออกไปเที่ยวแต่ละครั้ง คนส่วนใหญ่จะกูเกิลศึกษาสถานที่อย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะพิกัดที่เที่ยว ที่ถ่ายรูป ที่กิน ซึ่งสามารถทำได้อย่างละเอียดมากขึ้น และได้ข้อมูลอัพเดตมากขึ้น ตรงกันกับผลสำรวจจาก Tnooz เว็บไซต์รวมข่าวสารและเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว ที่พบว่า นักท่องเที่ยวมากกว่า 30 ล้านคน ในปี 2014 ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวผ่านสมาร์ทโฟน และแนวโน้มนิี้ยังมีทีท่าเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรกับบริษัททัวร์หรือธุรกิจการท่องเที่ยว? ไลฟสไตล์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปชี้ให้ผู้เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ สายการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ เห็นโอกาสการโปรโมทตัวเองด้วยการให้ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ตัวเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญดีอยู่แล้ว ตัวอย่างหัวข้อก็เช่น
- สายการบิน : วิธีจองตั๋วเครื่องบินให้ได้ราคาถูกที่สุด, บริการฟรีจากสายการบินที่ผู้โดยสารสามารถขอจากพนักงานได้, วิธีจองตั๋วผ่านเว็บทางการของสายการบินให้เสร็จภายใน 5 นาที ฯลฯ
- โรงแรม : ชวนรู้! ช่วงไหนของปีที่ที่พักโรงแรมราคาถูกน่าเที่ยวที่สุด, รวมของใช้ในห้องพักที่ผู้เข้าพักสามารถนำกลับบ้านได้, วิธีเลือกและจองโรงแรมผ่านเว็บ ให้ได้โรงแรมติดถนน เดินทางสะดวก และติดธรรมชาติด้วย ฯลฯ
- บริษัททัวร์ : 10 ทัวร์ต่างประเทศยอดนิยม ที่นักท่องเที่ยววัยทำงานจองเที่ยวในปี 2019, รวมทัวร์ญี่ปุ่นราคาไม่เกิน 40,000 เที่ยวในปี 2020, 5 สิ่งที่ต้องดู บริษัททัวร์ที่ดีต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้! ฯลฯ
ประโยชน์ของการเขียนบทความท่องเที่ยว ที่เว็บธุรกิจท่องเที่ยวน่าทำ!
1. ช่วยให้เว็บติด Google ดีขึ้น การเขียนบทความท่องเที่ยว ที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่มีประโยชน์ มีภาพหรือคลิปวิดีโอประกอบ นอกจากจะให้ผู้สนใจธุรกิจของเรารู้จักเราดีขึ้น สิ่งนี้ยังช่วยให้ Google รู้จักเรามากขึ้น เชื่อถือเรามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เว็บของเราติด Google ในอันดับที่ดีมากขึ้น จากหน้า 10 เลื่อนขึ้นมาสู่หน้า 3, 2 หรือ 1 ลูกค้าหรือผู้สนใจซื้อสินค้าและบริการก็จะมาเจอธุรกิจของเราได้ง่ายกว่าเดิม 2. เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ “โรงแรมนี้มีอยู่จริงหรือเปล่า” หรือ “ซื้อทัวร์ไปทัวร์จะชิ่งหนีไหม” เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่ว่าที่ลูกค้าอาจจะคิดถึงธุรกิจของเราก็ได้ ตราบใดที่เขายังไม่รู้จักเราดี การเขียนบทความท่องเที่ยวหรือสาระความรู้ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นการมอบประโยชน์ฟรีๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งเมื่อลูกค้ารู้สึกไว้ใจในข้อมูลของเราได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ช่วยให้ลูกค้าเชื่อถือเราทีละนิด เพิ่มขึ้นในอนาคต 3. เป็นช่องทางขายของ เมื่อผู้สนใจเริ่มติดตามการเขียนบทความท่องเที่ยวของเรา นั่นอาจแปลว่าบทความองเรามีประโยชน์ อ่านสนุก หรือมีคุณค่าที่จะเรียนรู้ เราสามารถใช้ข้อดีทั้งหมดนี้มาใส่ในโปรโมชั่นขายสินค้าและบริการของเราได้ อาจจะพลิกแพลงด้วยการให้สาระก่อนขายของทีหลัง หรือเขียนแนวตลก สนุกสนาน ก็ช่วยให้ลูกค้าสนใจสิ่งที่เราขายมากขึ้นได้ 4. ช่วยฝึกให้เป็นนักเล่าเรื่องที่ดี ผู้ทำธุรกิจทุกคนรู้ดีว่า ทุกคนมีของจะขาย แต่ผู้ที่ขายของได้ คือ ผู้ที่สื่อสารไปถึงลูกค้าได้สำเร็จ ซึ่งการฝึกฝนเล่าเรื่องจนกลายเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งไ่ม่เพียงแค่ทำให้เราขายของได้ แต่ช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ การสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของเราจากคู่แข่งนับร้อยนับพันที่อยู่ในตลาด และช่วยสร้างฐานลูกค้าประจำได้จากการที่พวกเขาเป็นผู้ติดตามของเราอยู่แล้วได้ด้วยเข้าใจถึงประโยชน์ของการเขียนบทความท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจกันไปแล้ว คราวนี้ มาเริ่มเขียนบทความท่องเที่ยวของเรากันบ้างดีกว่า WOW มี 9 ทิปส์การเขียนบทความท่องเที่ยวแบบเปนหลักง่ายๆ ที่แค่จำไว้ใช้ทุกครั้งที่เขียน รับรองว่าสร้างบทความหรือรีวิวท่องเที่ยวเก๋ ๆ แบบของตัวเองได้ไม่ยากเลย
9 เคล็ดลับ เขียนบทความท่องเที่ยว ให้สนุก
1. วาดเค้าโครงเรื่องไว้ในหัว เค้าโครงที่ว่านี้อาจจะเริ่มจากชื่อเรื่องก่อนก็ได้ เช่น สมมติคุณเป็นบริษัทขายทัวร์ A คุณมีข้อมูลการจองทัวร์ท่องเที่ยวของทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของปี 2019 มาปี 2020 คุณเลยนำข้อมูลเหล่านี้ มาเรียบเรียงเป็นบทความ 2. รู้เป้าหมายว่าเขียนบทความนั้นไปทำไม สมมติว่าคุณเป็นบริษัทขายทัวร์ เป้าหมายของการเขียนบทความของคุณจากข้อ 1 จึงอาจจะเพื่อบอกเล่าเทรนด์การท่องเที่ยวของปีที่แล้ว และเพื่อเสนอขายทัวร์ของปี 2020 ที่จัดตามสถานที่ทัวร์ยอดฮิตของปีที่แล้ว เป็นต้น 3. รู้ว่าเขียนให้ใครอ่าน เป้าหมายของการเขียนคือ การอ่าน ก่อนจะเขียนเราต้องรู้ว่าใครเป็นคนอ่านหรือเราอยากให้ใครเป็นคนอ่าน เพื่อจะได้รู้ว่าควรเขียนเรื่องอะไร ปรับเค้าโครงเรื่อง ภาษา และองค์ประกอบที่เหมาะสมกับผู้อ่าน 4. เขียนย่อหน้าแรกให้น่าสนใจที่สุด สำหรับบทความท่องเที่ยว ย่อหน้าแรกจะเป็นตัวบอกสไตล์หรืออารมณ์เรื่องราวการท่องเที่ยวที่ผู้อ่านต้องเจอ และคนส่วนใหญ่คาดหวังถึงบทความท่องเที่ยวว่าต้องสนุกหรืออ่านเพลิน ถ้าอ่านแล้วรู้สึกเบื่อง่วงนอนตั้งแต่ย่อหน้าแรก เป็นไปได้สูงว่าคนจะไม่อ่านต่อ 5. ใช้ภาษาบรรยายให้เห็นภาพ แต่ไม่เยิ่นเย้อ อธิบายเป็นลำดับขั้นตอน เหมือนที่คนเขียนไปเจอมา ให้คนอ่านนึกภาพตามออก แต่อย่าเขียนเยิ่นเย้อ เวิ่นเว้อ เกริ่นเยอะ เพราะคนอ่านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกับเราอาจจะนึกภาพตามได้บ้าง และไม่อินกับทุกสิ่งที่เราพูดขนาดนั้น 6. ใส่ภาพประกอบ เป็นไปได้ให้ใส่ภาพถ่ายจริง ถ้ากลัวโดนก็อปปี้ภาพก็ใส่ลายน้ำชื่อเว็บไซต์ที่รูป ถ้ามีความสามารถทำภาพประกอบ infographic ได้ยิ่งดี หรือถ้ามีคลิปวิดีโอก็อัพโหลดคลิปใส่ YouTube แล้วนำคลิปที่อยู่ใน YouTube มาแปะในบทความ ส่วนในหน้าคลิป YouTube ก็ลิงค์บทความของเรา เพื่อเพิ่ม backlink ให้บทความ
อ่าน : “รุ่งเรืองท่ามกลางรุ่งริ่ง” ส่องกลุ่มธุรกิจที่ขายดีช่วง “โควิด-19” เขาทำยังไงบ้าง?
7. เขียนเกร็ดเล็กน้อยที่มีประโยชน์แต่คนไม่ค่อยรู้ คนที่เข้ามาอ่านรีวิวท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คาดหวังว่าพวกเขาจะได้ข้อมูลบางอย่างที่พวกเขาไม่รู้ ซึ่งอาจจะเล็กน้อยถึงขั้นว่า ห้องน้ำที่สะอาดที่สุดที่อยู่ข้างวัดชื่อดัง B อยู่ตรงไหนก็เป็นได้ ซึ่งความรู้เชิงลึกนี้เอง ที่ทำให้เรื่องราวของเราแตกต่างจากคนอื่นได้ 8. อ่านเยอะๆ การอ่านเป็นการสะสมคลังความรู้ ไม่ใช่เรื่องของความรู้เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นเทคนิคการเขียน คำศัพท์ต่างๆ เพื่อให้เรามาปรับใช้เป็นเทคนิคของเราเอง 9. หาทางจบให้กับบทความ หาโครงเรื่องเพื่อเริ่มต้น เล่าให้สนุกและมีสาระ จากนั้นก็หาทางลงให้กับเนื้อเรื่อง พยายามสรุปการท่องเที่ยวนั้น หรือสาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นๆ ให้กระชับและบอกถึงภาพรวมการท่องเที่ยว
WOW ส่งท้าย
การเขียนเป็นศิลปะ ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่มีผิดถูก การเขียนบทความท่องเที่ยวก็เช่นกัน ในช่วงแรกอาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่หลังจากที่เริ่มเข้าที่แล้ว WOW มั่นใจว่า บทความเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือช่วยโปรโมทธุรกิจชั้นดีให้กับเราทั้งเรื่องเครดิตกับลูกค้าและระบบ Google ได้ในระยะยาว อ้างอิง : wanderlust.co.uk/, nomadicmatt.com/, blog.travefy.com/, arabiantravelmarket.wtm.com/