นับตั้งแต่โซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นโลกอีกใบให้ประชากรจากทั่วโลกได้ติดต่อกัน ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการทำตลาดจากเดิมที่แบรนด์ทำโฆษณาเพื่อโปรโมตสินค้าอย่างเดียว มาเป็นการโฆษณาและสร้างคอนเทนต์เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายให้หันมาสนใจแบรนด์ไปด้วย ส่งผลให้ Inbound Marketing กลายเป็นการตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ ในบทความนี้ เราจะไปดูกันว่า Inbound Marketing มีความสำคัญอย่างไรจึงถูกนำมาใช้ในการทำตลาด
Inbound Marketing คืออะไร
ก่อนที่เราจะไปรู้ความสำคัญ เราจะมาทำความรู้จักกับ Inbound Marketing ซึ่งก็คือ การตลาดแบบดึงดูด ที่แบรนด์จะต้องนำเสนอข้อมูลที่มีคุณค่าออกไปเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์อยากให้มาสนใจสินค้า และเมื่อเกิดความสนใจแล้ว แบรนด์ก็ต้องโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าและกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์ต่อไป โดยคอนเทนต์ที่แบรนด์ทำก็จะเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และการเขียน Blog
Inbound Marketing มีองค์ประกอบพื้นฐานอะไร
การทำ Inbound Marketing จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากขาดองค์ประกอบหลักซึ่งมีด้วยกัน 5 ส่วนดังนี้
เป้าหมาย (Goals)
มาเริ่มกันที่องค์ประกอบแรกที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ เป้าหมาย เพราะการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากจะขายสินค้านี้ให้ใคร ถือเป็นรากฐานที่จะช่วยให้แบรนด์วางแผนการทำการตลาดออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดึงลูกค้าได้ถูก ซึ่งในส่วนนี้จะขอยกตัวอย่างเป้าหมายของแบรนด์ที่ทำการตลาดแบบ Inbound Marketing มาด้วยกัน 3 ข้อดังนี้
เพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
เป้าหมายแรกของการทำตลาดแบบ Inbound Marketing คือการเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ เพราะเว็บไซต์ถือเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้มากที่สุด รู้ว่าแบรนด์ทำอะไร และมีสินค้าอะไรบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นหากแบรนด์สามารถดึงลูกค้าให้เข้ามาที่เว็บไซต์ได้ก็จะช่วยให้เว็บมียอดต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เว็บไซต์มีอันดับการค้นหาสูงขึ้นไปด้วย
เพิ่ม Engagement บนโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่จะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้เร็วที่สุดและยังเป็นช่องทางที่จะช่วยเพิ่ม Engagement ให้กับแบรนด์ได้ โดยการใช้ Inbound Marketing ผ่านการทำคอนเทนต์เพื่อดึงผู้ใช้ให้เข้ามาดูว่าแบรนด์สื่อสารอะไรออกมา และมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ได้ผ่านการกด Like, กด Share และการแสดงความคิดเห็นที่จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและถูกนำไปพูดถึงต่อ
หากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจสินค้าเพิ่ม
กลุ่มเป้าหมายมีอยู่ทุกที่ แบรนด์จึงต้องหาวิธีในการดึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจในสินค้าของแบรนด์เข้ามาทำความรู้จักแบรนด์ให้ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- Content Downloads คือการเผยแพร่ Digital Content เช่น อีบุ๊ก รายงานประจำปี หรือเอกสารข้อมูล บนเว็บไซต์ และใช้คอนเทนต์เหล่านี้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่อยากรู้จักแบรนด์ให้เข้ามาโหลดคอนเทนต์ไปใช้งานฟรี
- Free Trials คือการให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้บริการในเวลาจำกัด เพื่อให้ผู้ใช้ได้เห็นผลลัพธ์จากการใช้งานจริงและตัดสินใจได้เร็วขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการให้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์
- Newsletter Subscription คือการสมัครสมาชิกเพื่อรับทราบข่าวสารจากแบรนด์ที่จะส่งข่าวมาให้ทางอีเมล ช่วยให้แบรนด์สามารถเผยแพร่ Targeted Content ไปหากลุ่มคนที่สนใจได้ทันที
ลูกค้า (Customers)
เป้าหมายที่แบรนด์มีเหมือนกันก็คือการโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมาย และพยายามดึงกลุ่มเป้าหมายให้มาเป็นลูกค้าซื้อสินค้าให้ได้ เพราะลูกค้าคือปลายทางที่จะทำให้ขั้นตอนการตลาดและการซื้อขายเกิดขึ้นได้ครบวงจร โดยลูกค้าในความหมายของ Inbound Marketing จึงเป็นใครก็ได้ตั้งแต่ผู้ใช้ที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ ลูกค้าที่เข้ามาอ่าน Blog หรือลูกค้าที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย และเข้ามาสื่อสารกับแบรนด์ว่าต้องการอะไร
ลูกค้าตัวอย่าง (Customer Persona)
ก่อนที่แบรนด์จะทำโฆษณาออกไปกลุ่มเป้าหมายจริงๆ สิ่งที่แบรนด์จะต้องรู้ให้ได้คือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์เป็นใคร และวิธีที่จะทำให้แบรนด์รู้จักกลุ่มเป้าหมายคือการสร้างลูกค้าตัวอย่าง เพื่อให้นักการตลาดรู้ว่าลูกค้าที่อยากใช้สินค้าของเราเป็นใคร โดยแบรนด์สามารถสร้างลูกค้าตัวอย่างขึ้นมาได้จากการรวบรวมข้อมูลดังต่อไปนี้มาประกอบ ได้แก่
- ข้อมูลลูกค้า คือข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ภูมิลำเนา อายุ เพศ รายได้ และระดับการศึกษา ของลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปใช้ก่อนหน้านี้
- ความชอบ เป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้าที่แบรนด์ต้องการมีความชอบหรือความสนใจในเรื่องใด มีความชอบสินค้าประเภทไหน
- ปัญหา ลูกค้าตัวอย่างจะต้องเจอปัญหาอะไรในชีวิต ถึงหันมาใช้สินค้าจากแบรนด์ของเรา
- การรับรู้ข้อมูล ลูกค้าตัวอย่างใช้สื่อช่องทางไหนรับรู้ข่าวสาร และชอบการนำเสนอเนื้อหารูปแบบไหน เพื่อให้แบรนด์นำมาออกแบบสื่อและเลือกช่องทางการเผยแพร่
- ปัจจัยการซื้อ ลูกค้าตัวอย่างใช้ปัจจัยอะไรในการซื้อสินค้า พวกเขาซื้อสินค้าเพราะราคาถูก มีโปรโมชั่น หรือจะเลือกซื้อจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เพราะมั่นใจว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพจริง
การรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดมาได้ก็จะทำให้แบรนด์เห็นภาพแล้วว่าลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์มีลักษณะอย่างไร เพื่อนำข้อมูลส่วนนี้ไปพัฒนาสินค้า วางแผนการตลาด ไปจนถึงการสื่อสารได้
การเดินทางของลูกค้า (Customer Journey)
การที่ลูกค้าจะรู้จักสินค้าและตัดสินใจซื้อสินค้า ลูกค้าจะต้องผ่านกระบวนการการเดินทางซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้ (Awareness)
ลูกค้ารู้แล้วว่ามีแบรนด์ที่ขายสินค้าชนิดนี้อยู่
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณา (Consideration)
ลูกค้ารู้จักแบรนด์และสินค้า เริ่มมีการพิจารณาแล้วว่าจะซื้อสินค้าจากแบรนด์ของคุณใช้หรือไม่
ขั้นตอนที่ 3 การซื้อสินค้า (Purchase)
ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้ามาใช้ ซึ่งในขั้นตอนนี้แบรนด์จะต้องดำเนินการให้ดี เพราะถ้ามีปัญหาก็อาจทำให้ลูกค้ายกเลิกการซื้อ
ขั้นตอนที่ 4 การใช้ซ้ำ (Retention)
ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปมีการกลับมาซื้อสินค้าจากแบรนด์ไปใช้อีกหรือไม่ เพราะการกลับมาซื้อซ้ำจะช่วยให้แบรนด์ได้ฐานลูกค้าใหม่เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนที่ 5 การบอกต่อ (Advocacy)
ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังจากลูกค้าได้ใช้งานแล้วและเกิดความประทับใจ จนนำไปบอกต่อคนอื่นให้มาใช้สินค้าจากแบรนด์เดียวกัน ช่วยให้แบรนด์ได้ลูกค้าประจำเพิ่มขึ้นมา
การพาให้ลูกค้าเดินทางมาถึงขั้นตอนที่ 5 จึงเป็นเรื่องที่แบรนด์จะต้องออกแบบ Customer Journey ให้ดีว่าอยากจะให้ลูกค้าของแบรนด์รับรู้ข้อมูลแบบไหน
คอนเทนต์ (Content)
หลังที่แบรนด์รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองและกำหนด Customer Journey ก็มาถึงการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของ Inbound Marketing ลงไปว่าแบรนด์อยากจะให้ลูกค้ารู้ข้อมูลอะไรในแต่ละขั้นตอน และจะสร้างออกมาในรูปแบบไหน โดยมีตัวอย่างรูปแบบคอนเทนต์ดังต่อไปนี้
- Blog Post คือการเขียนคอนเทนต์เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ต้องการออกไป ซึ่งการเขียน Blog จะเป็นการเขียนบทความแนวยาวที่มีการแบ่งส่วนเนื้อหาเอาไว้แล้ว ช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่ากำลังอ่านเนื้อหาอะไรเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ส่งผลให้การเขียน Blog เป็นคอนเทนต์ที่สื่อสารกับลูกค้าได้ละเอียด และใช้ความละเอียดในการดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาที่เว็บไซต์
- Video คือการถ่ายคลิปเล่าเรื่อง ถือเป็นคอนเทนต์อีกรูปแบบของ Inbound Marketing ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะสามารถถ่ายทำได้ทั้งในรูปแบบคลิปสั้นและคลิปยาว ขอเพียงแค่แบรนด์มีการเล่าเรื่องตามลำดับที่ชัดเจนก็สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาติดตามได้
- Infographic เป็นคอนเทนต์ที่มีเป้าหมายหลักในการสื่อสารข้อมูลของเรื่องต่างๆ ที่มีราละเอียดมากให้ออกมาเป็นกราฟิกที่เข้าใจง่าย โดยการนำข้อความ ตัวอักษร ตัวเลข และภาพมาใส่ แล้วใช้สี รูปทรงต่างๆ เข้ามาตกแต่งให้มีสีสันก็จะช่วยให้มีความน่าดูมากขึ้น
Inbound Marketing มีความสำคัญอย่างไร
การทำตลาดแบบ Inbound Marketing มีความสำคัญต่อแบรนด์มาก ถึงขั้นที่หลายแบรนด์ในยุคนี้เลือกใช้การตลาดแบบนี้อย่างเดียวเลยก็มี ซึ่งในส่วนนี้เราจะไปดูความสำคัญ 5 ข้อ ที่ทำให้ Inbound Marketing ถูกนำไปใช้ในการทำตลาดกัน
ช่วยให้เว็บไซต์มี Traffic ผู้เข้าชมมากขึ้น
การตลาดแบบ Inbound Marketing คือคำตอบที่จะเข้ามาช่วยแบรนด์มี Traffic ผู้เข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น โดยการทำ SEO ซึ่งแบรนด์จะต้องเลือก Keyword กับเนื้อหาใกล้กัน และจะต้องมีการลงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้คอนเทนต์ของแบรนด์ถูกค้นเจอบ่อย ยิ่งถ้ามีคนคลิกเข้ามาดูมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้ Algorithm มองว่าคอนเทนต์นั้นมีคุณภาพ ส่งผลให้การจัดอันดับดีขึ้น
ช่วยลดต้นทุนการตลาด
การโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่าน Facebook, Instagram หรือ Google ต่างก็มีต้นทุนต่ำ ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลางสามารถจัดสรรเงินทุนในการโฆษณาไปตามช่องทางต่างๆ ได้ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาได้ ต่างจากการทำโฆษณาแบบเดิมที่ใช้ต้นทุนสูง เพราะมีช่องทางจำกัดเพียงแค่โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนสูงเท่านั้นที่ทำโฆษณาได้
แบรนด์ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพ
การทำตลาดแบบ Inbound Marketing ช่วยให้แบรนด์ได้กลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพ มีความสนใจในสินค้าจริง และมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์มากกว่า Outbound Marketing ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ เพราะแบรนด์ทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ลงโซเชียลมีเดีย อาทิ การเขียน Blog การเขียนบทความให้ความรู้ และการถ่ายคลิปเล่าเรื่อง ซึ่งจะดึงผู้ใช้ที่สนใจคอนเทนต์ดังกล่าวจริงๆ มาเป็นผู้ติดตามได้
สร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าในระยะยาว
เป้าหมายของการทำตลาดทั่วไปคือการโฆษณาแบรนด์และขายสินค้า แต่การทำตลาดแบบ Inbound Marketing ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าไปด้วย เพราะถ้าเราอยากให้ลูกค้าเชื่อใจ ใช้งานสินค้าต่อ แบรนด์ก็ต้องมีสิ่งที่จะแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าสามารถเชื่อใจได้ซึ่งนั่นคือการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน จะช่วยให้แบรนด์ใกล้ชิดกับลูกค้าได้มากขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
ทำให้แบรนด์มีชื่อเสียงมากกว่าเดิม
การโฆษณาแบบ Outbound จะถูกมองว่าเป็นการโฆษณาโดยตรง โดยไม่มีใครสนใจว่าจะมีข้อมูลอะไรบ้าง แต่การทำ Inbound Marketing โดยการเขียน Blog หรือบทความลงเว็บไซต์ จะช่วยให้แบรนด์ออกแบบเนื้อหาและนำข้อมูลสำคัญใส่ลงไปได้ ซึ่งจะมีโอกาสที่จะถูกอ่านเจอมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น หากข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องก็จะทำให้เว็บไซต์อื่นนำเนื้อหาไปใช้อ้างอิง ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ของคุณได้อีกด้วย
แบรนด์ควรใช้ Inbound Marketing เมื่อไหร่
ต้องบอกว่า Inbound Marketing เป็นการตลาดที่แบรนด์สามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ตอนไหน คุณก็สามารถทำ Inbound Marketing ได้เมื่อแบรนด์มีความต้องการ 5 ข้อดังนี้
1.รู้จักกลุ่มเป้าหมายแล้ว
เมื่อแบรนด์รู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใครก็สามารถนำ Inbound Marketing มาใช้ได้เลย ซึ่งสามารถเริ่มด้วยการทำ SEO โดยการหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ามาเขียนบทความลงเว็บไซต์ ก็จะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่สนใจคอนเทนต์ให้คลิกเข้ามาอ่านได้
2.ต้องการให้ลูกค้ามีส่วนร่วม
การทำให้ลูกค้ารักแบรนด์ แบรนด์ก็ต้องหาวิธีในการดึงลูกค้าให้เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็คือ การสร้างโพลล์ หรือแบบสำรวจออนไลน์ให้ลูกค้าทำ ถือเป็นวิธีจะช่วยให้แบรนด์ที่ทำการตลาดออนไลน์สามารถดึงลูกค้าให้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น และที่สำคัญคือการได้ข้อมูลเชิงลึกจากความคิดเห็นของลูกค้าไปด้วย
3.ต้องการกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าเพิ่ม
Inbound Marketing เน้นไปที่คุณภาพของกลุ่มเป้าหมายมากกว่าปริมาณ ดังนั้น หากแบรนด์ต้องการกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในสินค้าจริงและมีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าได้ Inbound Marketing จึงเป็นคำตอบสำหรับแบรนด์ที่อยากได้กลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้า ซึ่งทำได้ด้วยการทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายจริงๆ
4.ต้องการวัดผลตอบแทนจากคอนเทนต์ที่ปล่อยออกไป
แบรนด์อยากรู้อยู่แล้วว่าโฆษณาที่ปล่อยออกไปได้ผลตอบรับอย่างไร การทำ Inbound Marketing จะช่วยให้แบรนด์สามารถวัดประสิทธิภาพของคอนเทนต์ที่เผยแพร่ออกไป โดยการใช้เครื่องมือติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลที่แพลตฟอร์มมีให้ ก็จะทำให้เห็นตัวเลขต่างๆ ชัดเจน เพื่อนำมาวัดผลต่อไป
5.แบรนด์มีวงจรการขายสินค้านาน
สำหรับแบรนด์ที่ทำธุรกิจแบบ B2B หรือ ธุรกิจที่ขายสินค้าให้กับลูกค้าที่ทำธุรกิจด้วยกัน จะมีระยะเวลาในการขายสินค้าให้นานกว่า เพราะต้องขายในปริมาณมากและมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การดึงธุรกิจอื่นที่เป็นลูกค้าให้ซื้อสินค้ากับเราต่อไปเรื่อยๆ สามารถทำได้โดยการทำคอนเทนต์แนะนำการใช้งานหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่ในรูปแบบ Video ที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย และเข้าใจรายละเอียดได้ง่ายกว่า
Inbound Marketing เหมาะกับธุรกิจแบบไหนบ้าง
Inbound Marketing เป็นการตลาดที่เหมาะกับธุรกิจ 5 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ธุรกิจที่ต้องการสร้าง Brand Awareness และดึงดูดลูกค้าผ่านการทำคอนเทนต์เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ของแบรนด์
- ธุรกิจที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว ผ่านการนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ให้กับลูกค้า
- ธุรกิจที่อยากให้ลูกค้าค้นหาข้อมูลเจอด้วยตัวเองและนำข้อมูลมาช่วยตัดสินใจ เช่น ธุรกิจการศึกษา การเงิน สุขภาพ เทคโนโลยี
- ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีต้นทุนจำกัด แต่อยากโฆษณาตัวเองเพื่อให้ลูกค้ารู้จัก
- ธุรกิจที่เน้นการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
สรุป
ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นสื่อกลางในการรับรู้ข้อมูลเพิ่มยังส่งผลให้การทำตลาดเปลี่ยนไปอีกด้วย เพราะจากเดิมที่แบรนด์เป็นคนวิ่งเข้าหาลูกค้าอยู่ฝ่ายด้วยการทำ Outbound Marketing แต่เมื่อมีการนำ Inbound Marketing ซึ่งเป็นการตลาดที่เน้นการให้คุณค่าก่อนมาใช้ ก็จะทำให้ลูกค้าเป็นฝ่ายเข้าหาแบรนด์แทน ช่วยให้แบรนด์มีต้นทุนรวมลดลงและยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะใช้สินค้าจริงมากกว่า อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ระยาวได้ ซึ่งนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Inbound Marketing ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง