วิธี เรียนออนไลน์ หรือ E-Learning และ E-Training เป็นวิธีการเรียนการสอนที่มีข้อดีหลายอย่างชัดเจนที่ผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาทั้งครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาทราบกันอยู่แล้ว เช่น ความยืดหยุ่นเรื่องเวลาการเรียน ค่าใช้จ่าย ความสะดวกเรื่องการเดินทางและเวลา
WOW ชวนส่องแนวโน้มของการ เรียนออนไลน์ หรือ E-Learning ในปีนี้และในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา โรงเรียน ผู้ประกอบการ ครูบาอาจารย์ นักเรียนผู้เรียน หรือแม้แต่บริษัทห้างร้านเองที่จัดอบรมเพิ่มทักษะให้พนักงาน จะทำอย่างไรให้การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของเราได้ผลดีที่สุด
เทรนด์ เรียนออนไลน์ E-Learning 11 อย่าง ในอนาคต
1. เรียนบนมือถือหรือสมาร์ทโฟน
มือถือหรือสมาร์ทโฟนกลายเป็นอวัยวะอย่างที่ 33 อย่างที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว จากข้อมูลของเว็บไซต์รวบรวมสถิติเชิงธุรกิจ Statista เผยว่า เมื่อปีที่แล้ว 2019 จากประชากรทั่วโลกกว่า 7,700 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 6,800 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าตัวเลขนี้จะแตะ 7,000 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งเท่ากับว่ามีผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดเป็นประมาณ 89% ของประชากรทั้งหมด
จากตัวเลขผู้ใช้งานนี้ ก็มีตัวเลขของผู้เรียน E Learning ผ่านโทรศัพท์มือถือกว่า 99% ที่บอกว่า การเรียนผ่านโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟน (Mobile Learning) ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนได้ดีขึ้น และ 67% เรียนคอร์สออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะสามารถรับข้อมูลหรือดูคลิปวิดีโอการเรียนการสอนเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ ผู้สอนติดตามการเรียนของนักเรียนได้ง่ายมากขึ้น
2. เรียนรู้ผ่านสังคม
เด็กเล็กเรียนรู้การพูดหรือการใช้ภาษาจากพ่อแม่และคนรอบข้าง การเข้าแถวผ่านเพื่อนร่วมชั้นอนุบาล สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการเรียนรู้ผ่านสังคม (Social Learning) โดยที่ผ่านมา การเรียนรู้ผ่านสังคมเป็นการเรียนรู้ที่มาจากการเจอหน้ากัน
ทว่าเวลาผ่านไป การปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมสามารถทำได้ผ่านเครื่องมือออนไลน์มากขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น การตั้งกระทู้ถามตอบบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย การอภิปรายด้วยการวิดีโอคอล ซึ่งทั้งหมดสามารถทำผ่านระบบการเรียนออนไลน์ได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่ในอนาคต นักเรียนภาษาจะสามารถเรียนภาษาใหม่ได้ถึงระดับ intermediate หรือ near-native โดยไม่ต้องเจอหน้าเจอตัวครูผู้สอนเลยแม้แต่ครั้งเดียวมากขึ้น
3. อุบัติใหม่ของเทคโนโลยีเสมือนจริง
แว่นตาสร้างมิติเพื่อเล่นเกม อุปกรณ์การเล่นเกมที่เชื่อมเข้ากับแขนขาหรือศีรษะของผู้เล่นเพื่อจับการคลื่อนไหวหรือคลื่นสมอง รวมแล้วเรียกว่า เทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Technology) เป็นอีกเทรนด์ที่ส่งผลต่อการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์
ที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงมีผลต่อการเรียนรู้ต่อผู้ใช้งานอยู่แล้ว แต่หากในอนาคตที่การเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย อาจจะเรียกว่า เทคโนโลยีเสมือนจริงและระบบ E Learning กอดคอพากันเติบโตก็ได้
เพราะเทคโนโลยีเสมือนจริงทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ทำได้หลากหลายและเสมือนเรียนในห้องเรียนมากขึ้น เช่น ชั้นเรียนที่ต้องมีการจับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้เรียน ส่วนการเรียนออนไลน์ก็ส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริงคิดค้นอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพของชิ้นงานและการแข่งขันทางการตลาดด้วย
4. คอร์สเรียนที่สั้นมาก
ในอนาคต การเรียนออนไลน์จะเป็นสิ่งที่ใครก็เข้าถึงได้ ด้วยเทคโนโลยีและการดีไซน์รูปแบบการเรียนที่หลากหลาย คอร์สเรียนที่ใช้เวลาสั้นมากๆ (Microlearning) เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะพบเห็นได้มากขึ้น ซึ่งคอร์สนี้ได้รับการจัดทำให้เข้ากับไลฟสไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (multi-tasking) และมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้มากมายมหาศาล
คอร์สเรียนที่ใช้เวลาสั้นมาก จะเป็นคอร์สเรียนที่มีระยะเวลาการสอนแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 2-7 นาที ซึ่งคอร์สเรียนลักษณะนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้เวลาว่างศึกษาหาความรู้ได้แทบจะตลอดเวลา และทำให้เข้าถึงง่ายสำหรับนักเรียนทุกระดับทุกประเภท เพราะคอร์สเรียนสั้นๆ จะเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้เกือบทุกรูปแบบ
การเข้าถึงการเรียนที่ง่ายและสะดวกขึ้นก็ยิ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียน จุดนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของระบบ E-Learning ที่มองเป็นข้อดีจะหยิบไปใช้ต่อยอดเป็นคอร์สเรียนสั้นๆ เข้าสู่ระบบอยู่เสมอ
5. เน้นทักษะการใช้ชีวิตให้เข้ากับการทำงาน
ทุกวันนี้ ทักษะทางสังคมหรือการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานเป็นเรื่องที่องค์กรให้ความสำคัญ ถึงขั้นว่าสถาบันการศึกษาจัดหลักสูตรอบรมนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนจบศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเป็นเรื่องยากมากหรือน้อยมากที่พนักงานจะทำงานโดยใช้ทักษะความรู้แต่เพียงอย่างเดียว
ในการทำงานไม่ว่าสังคมไหน คนทำงานต้องใช้ทักษะทางสังคมควบคู่ไปด้วยเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จด้วยดีหรือมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ทักษะการเจรจาต่อรอง การรู้จักเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การฟังเพื่อจับใจความ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในวัยทำงาน
ทักษะเหล่านี้จะสร้างสมดุลชีวิตอย่างไรเวลาทำงาน ควรพักผ่อนเวลาไหน การพักผ่อนแบบไหนเหมาะกับคนทำงาน ซึ่งเชื่อว่าสถาบันการศึกษาระดับสูงหรือบริษัทสำนักงาน จะให้ความสำคัญกับคอร์สแบบนี้จะมีมากขึ้นในอนาคต
6. เรียนโดยมีคลิปวิดีโอเป็นสื่อหลัก
ทุกวันนี้ ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเสพเนื้อหาผ่านวิดีโอมากขึ้น เพราะได้ภาพและข้อมูลที่มากกว่าและได้หลากหลายมิติรวมถึงอรรถรสมากกว่า พฤติกรรมของผู้ใช้งานสอดคล้องกับตัวเลขการสร้างแพลตฟอร์มคลิปภาพเคลื่อนไหวที่มีมากขึ้น
ยกตัวอย่างสถิติจากยูทูบ (YouTube) ที่แต่ละวันผู้ใช้งานยูทูบใช้เวลาชมคลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงมีผลสำรวจจาก Wyzowl บริษัทออกแบบและพัฒนาคลิปวิดีโอเพื่อการอธิบาย ที่ชี้ว่า 68% ของคนชอบดูวิดีโอเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการมากกว่าเนื้อหาในรูปแบบอื่นๆ
ยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า วิดีโอ คือ การเรียนรู้แห่งโลกอนาคต อย่างแรก วิดีโอมีภาพที่ดึงดูดความสนใจ และธรรมชาติของวิดีโอที่เป็นเชิงชวนตอบโต้ที่ดึงการมีส่วนร่วมของผู้ชมได้ดี และอีกอย่างที่สำคัญคือ เนื้อหาวิดีโอง่ายต่อการรับสารและทำให้ผู้รับสารแปลงความเข้าใจออกมาได้เห็นภาพมากขึ้นด้วยการใช้วิธีการแบบที่สื่อวิดีโอนั้นนำเสนอ
ทั้งหมดนี้ชี้ว่า วิดีโอเป็นแนวโน้มของสื่อการเรียนการสอนที่ใช้แล้วได้ผลสัมฤททธิ์การเรียนอย่างชัดเจน ควรค่ากับการลงทุน
7. เรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ปรับให้เข้ากับผู้เรียนได้
การเรียนรู้แบบปรับเหมาะ (Adaptive Learning) เป็นรูปแบบการศึกษาที่ใช้อัลกอริทึ่มคอมพิวเตอร์สื่อสารกับผู้เรียนและถ่ายทอดข้อมูลความรู้ตามระดับความรู้ด้วยวิธีที่เข้ากับผู้เรียนมากที่สุด จากการเก็บข้อมูลผู้เรียนที่ได้มากขึ้นผ่านเครื่องมือต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้อย่างละเอียด ชัดเจน และทั่วถึง
วิธีการ Adaptive Learning ยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และการพัฒนามนุษย์ที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายทั่วโลกและมากขึ้น กระทั่งว่าช่วงหนึ่งเวลาหนึ่ง ประเทศไทยก็เคยพูดถึงนโยบายผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center ปี 2555) ยิ่งได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาของเครื่องมือการเรียนรู้อย่าง VR, AR และ AI การเรียนรู้แบบ Adaptive ยังยิ่งสามารถปรับเข้าหาผู้เรียนได้อย่างแนบเนียนที่สุดด้วย
8. ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่วิเคราะห์การเรียนรู้
ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) คือ ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากการดึงข้อมูลจากหลายๆ ส่วน และดึงมาอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมระบบ E-Learning คาดการณ์ว่า องค์กรต่างๆ จะเริ่มดึงข้อมูลขนาดใหญ่นี้มาเพื่อใช้วิเคราะห์การเรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการทำงานหรือสถาบันการศึกษา เพื่อวิเคราะห์และปรับระบบการเรียนออนไลน์ให้เข้ากับวิถีและความรู้ที่ผู้เรียนต้องการมากที่สุด
ซึ่งการดึงข้อมูลสำหรับการเรียน E-Learning ยังมีความละเอียดกว่าการดึงข้อมูลของการเรียนในห้องเรียนอีกด้วย เพราะข้อมูลของการเรียน E-Learning จับได้ถึงพฤติกรรมเวลาอยู่ในห้องเรียนออนไลน์ด้วย เช่น วิชาที่กลุ่มผู้ใช้งานชอบเรียนมาก/น้อยที่สุดและกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้เป็นใคร วิชาไหนที่มียอดสำเร็จการศึกษามากที่สุดและวิชาเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร คนจะเริ่มเลิกเรียนกลางคันตอนไหน การหยุดพักระหว่างเรียนมักเกิดขึ้นช่วงไหนของคอร์สเรียน ฯลฯ
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลใหญ่สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาคอร์สเรียนที่ดียิ่งขึ้นตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากที่สุดหรือเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนหรือ KPI การฝึกอบรมของพนักงานต่อไป
อ่าน : เปรียบเทียบวิธี E-Learning 4 แบบ โรงเรียน-นักเรียนควรเลือกแบบไหนถึงเหมาะกับตัวเองที่สุด?
9. อัจฉริยะประดิษฐ์
อัจฉริยะประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นเทคโนโลยีการสร้างระบบให้สามารถคิดหรือแสดงผลได้อย่างมีเหตุผลตรรกะคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด AI เป็นนวัตกรรมที่ปรากฎอยู่ในหลายวงการ หรือถูกกล่าวอ้างเมื่อต้องการจะอธิบายความสามารถของระบบเทคโนโลยีให้เข้าใจระดับความอัจฉริยะได้ชัดเจนมากที่สุด
ในแง่ของการเรียนออนไลน์ AI จะช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนได้ในหลายด้าน เช่น ประมวลข้อมูลการเรียนของนักเรียนแต่ละคนที่ได้รับและจัดสรรออกมาเป็นการเรียนที่เข้ากับนักเรียน ใช้ระบบเรียนรู้หรือค้นหาข้อมูลด้วยเสียงในวิชาเรียน ระบบตอบคำถามอัตโนมัติ (Chatbot) หรือแม้แต่การจัดทำคอร์สเรียนเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้เรียนที่บกพร่องด้านการฟัง การเขียน การอ่าน เป็นต้น
คาดว่าจากปัจจุบันที่ระบบ E-Learning เน้นกระจายเนื้อหารูปแบบเดียวกันให้เข้าถึงผู้เรียนจำนวนมากที่สุด จะพัฒนาไปสู่ชั้นเรียนที่เข้ากับผู้เรียนมากขึ้นโดยใช้แค่ระบบ ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานหรือเครื่องมือเครื่องจักรมากชิ้น อย่างที่กล่าวข้างต้นด้วยการใช้ AI
10. ใช้เทคนิคเกมเป็นสื่อการสอน
การใช้เทคนิคเกม (Gamification) ในการเรียนออนไลน์ คือ การใช้เทคนิคสนุกๆ ที่มักอยู่ในเกมมาเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมในการเรียนของผู้เรียนและช่วยให้ผู้เรียนเข้าเรียนอย่างต่อเนื่องไม่ล้มเลิกกลางคัน ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าให้ผลที่ดีจริง จนมีการใช้ในหลักสูตรต่างๆ ของ E-Learning มากขึ้น รวมถึงพัฒนารูปแบบของเกมให้หลากหลายมากขึ้น
จุดเด่นหรือหมัดฮุคของ Gamification ที่นอกเหนือจากความสนุกคือ ผลตอบแทน ที่ผู้จัดทำระบบเรียนออนไลน์ที่ใช้ Gamification อาจใช้สะสมคะแนนเพื่อแลกรางวัลเป็นแรงจูงใจเพิ่มได้อีก ให้รางวัลตามคะแนนที่ผู้เรียนได้จากการเล่นเกมต่างๆ ในหลักสูตร ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับทั้งนักเรียนนักศึกษาและผู้ฝึกอบรมขององค์กรต่างๆ ขึ้นอยู่กับการจัดหาเกมให้เหมาะสมกับผู้เล่นด้วย
11. จัดหมวดหมู่เนื้อหาความรู้
ในอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลมากมายให้เลือกเรียนรู้ แต่จำนวนที่มากมายนี้ในบางมุมเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงชุดความรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน โดยผลสำรวจของ International Data Corporation ผู้ให้บริการข้อมูลการตลาดและธุรกิจ ชี้ว่าพนักงานที่เรียนคอร์สออนไลน์ใช้เวลาต่อคนเฉลี่ย 9.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการหาและพิจารณาข้อมูลความรู้ก่อนจะตัดสินใจเรียน
ประเด็นที่น่าสนใจนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เพราะชุดความรู้ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดหมวดหมู่เนื้อหาความรู้ (Content Curation) จะเป็นสิ่งสำคัญต่อมาที่ระบบ E-Learning ต้องการและจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะระบบที่มีแผนขยายกลุ่มผู้เรียนและธุรกิจการศึกษาของตัวเองให้กว้างขึ้นมากๆ ในอนาคต เพราะระบบการเรียนรู้ที่ดีควรเป็นระบบที่เอื้อต่อผู้เรียนทั้งเนื้อหา ความสะดวกของการเรียน และช่วยจัดสรรวิชาที่ตรงตามความต้องการให้ผู้เรียนด้วย
WOW ส่งท้าย
เมื่อพูดถึงคำว่า กระแส ก็มักจะเป็นสิ่งที่เข้ามาชั่วครู่และจากไป แต่คงไม่ใช่กระแสของการ เรียนออนไลน์ ที่มีแต่จะหนักแน่นและเข้มข้นขึ้นในแวดวงการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
การทำความเข้าใจและติดตามแนวโน้มของ E-Learning จึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับสถาบันการศึกษา บริษัทที่มีแรงงานคนขับเคลื่อนเป็นหลัก และผู้เรียน ซึ่งก็หมายถึงใครก็ตามที่สนใจขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวเองอย่างต่อเนื่องก็เข้าข่ายเป็นผู้เรียนได้
สำหรับใครที่มีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำระบบ E-Learning ของตัวเอง ติดต่อเข้ามาได้ที่ WOW ทั้งทางเพจ ไลน์ และเบอร์โทรศัพท์ เราพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำการพัฒนาระบบ E-Learning ตามความต้องการขององค์กร หวังว่าแนวโน้มเหล่านี้จะเป็นแนวทางหรือไอเดียสำหรับทุกคน แล้วพบกับบทความเพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เรื่องต่อไปได้ที่นี่ค่ะ
อ้างอิง :