เปิดธุรกิจหลังโควิด : “งาน-เงิน-คน” ธุรกิจ New Normal อยู่แบบใหม่ อยู่อย่างไร?

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของแต่ละประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทย มีคำสั่งให้ประชาชนรวมถึงธุรกิจกิจการต่างๆ งดกิจกรรมหรือการดำเนินการใดๆ เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น ก็เข้าสู่ช่วงของการผ่อนปรนคำสั่งชะงักธุรกิจ แต่การกลับมาดำเนิน ธุรกิจหลังโควิด คงจะไม่เหมือนกับหลังวิกฤตครั้งไหนๆ บทความ WOW ตอนนี้ มี 3 แผนการปรับในวิถี “New Normal” หรือชื่อแบบไทยๆ ว่า “ความปกติแบบใหม่” ที่น่าสนใจ ตัวอย่างธุรกิจที่เจ้าของธุรกิจทำระหว่างถูกสั่งปิดมีอะไรบ้าง รวมถึงคำแนะนำในแง่มุมอื่นๆ ของการทำธุรกิจช่วงนี้ ที่สามารถดูต้นแบบหรือประยุกต์ใช้ได้

ปรับงาน : แผนการขาย-การบริการ

กรณี#1 : ธุรกิจฟิตเนส 

สถานออกกำลังกายหรือฟิตเนส เป็นสถานประกอบกิจการแรกๆ ในลิสต์ที่ต้องปิดทันทีในช่วงโควิด-19 รวมถึง CrossFit 11:24 ฟิตเนสหรือยิมแห่งหนึ่งในรัฐจอร์เจียปิดธุรกิจชั่วคราวทันทีตามคำสั่งของรัฐเมื่่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ธุรกิจหลังโควิด, new normal

Credit : CrossFit 11:24

ก่อนหน้านั้นเฉลี่ยทุกวัน CrossFit 11:24 จะมีสมาชิกนักออกกำลังกายประมาณ 100 – 150 คน มาใช้บริการ เมื่อแจกแจงข้อมูลด้านธุรกิจ รายได้ของ CrossFit 11:24 ลดลงประมาณ 25 – 30% จากการปิดชั่วคราวและการยกเลิกสมาชิกบางส่วน

แต่เจ้าของธุรกิจซึ่งเป็นสองสามีภรรยาเตรียมดูแลลูกค้าไว้ล่วงหน้าด้วยการตั้งกลุ่ม Facebook ที่ให้เฉพาะสมาชิกของยิมเข้าร่วมเพื่อติดต่อหาสู่กันออนไลน์และนัดวิดีโอคอลเพื่อออกกำลังกายผ่านหน้าจอในที่พักของตัวเอง เพราะผู้บริหารมองว่า เรื่องใหญ่ที่สุดของ CrossFit 11:24 คือ การเป็นชุมชน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี สมาชิกมีความสุขกับกิจกรรมที่ยังทำได้อยู่ จำนวนหนึ่งโพสต์ภาพหน้าจอตอนออกกำลังกายผ่านวิดีโอคอลบนโซเชียลมีเดียของตัวเองด้วย

ด้านสถานที่ CrossFit 11:24 ทำการฆ่าเชื้อพื้นที่และเครื่องเล่นทั้งหมด รวมถึงสั่งซื้ออุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ มาเพื่อเตรียมใช้งานอีกครั้งเมื่อธุรกิจกลับมาเปิดตัว ส่วนกติกาการเข้าใช้งานก็เปลี่ยนไป โดยเจ้าของธุรกิจใช้ช่วงเวลาที่หายไป สร้างมาตรการในยิมใหม่ เช่น การจัดพื้นที่ออกกำลังให้ผู้ใช้งานทั้งโค้ช เทรนเนอร์ และสมาชิกอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร เทรนเนอร์ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีการพักเบรกระหว่างคลาสออกกำลัง เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนเริ่มคลาสใหม่ เป็นต้น

CrossFit 11:24 ไม่เพียงแค่เตรียมตัวกับตัวเองอย่างเดียว แต่ตั้งกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่า เมื่อรู้เวลาจะเปิด ก็จะแจ้งและชักชวนให้สมาชิกกลับมาออกกำลังได้อีกครั้งเมื่อไหร่ มีสิ่งเตรียมความพร้อมอะไร มีข้อกำหนดการใช้งานอย่างไร ซึ่งทำให้มีสมาชิกที่มั่นใจกลับมาใช้บริการฟิตเนสตั้งแต่วันแรกที่เปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า มีสมาชิกอีกส่วนที่ไม่พร้อม แต่ทางยิมก็น้อมรับในการตัดสินใจด้วยดี

กรณี#2 : คลีนิกเฉพาะทาง

หลายธุรกิจที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ไม่ใช่สิ่งจำเป็น” หรือ non-essential จะถูกสั่งปิดชั่วคราวเป็นส่วนมากในหลายประเทศ ซึ่งคลีนิกเฉพาะทางก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกจัดว่าเข้าข่าย โดยทางลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจะได้รับคำแนะนำให้เลี่ยงหรืองดการใช้บริการชั่วคราว ขณะที่ทางคลีนิกก็จะถูกสั่งชะลอการนัดคนไข้หรืออาจสั่งงดไปเลยชั่วคราวเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในไทย

ธุรกิจหลังโควิด, new normal

Credit : Premier Podiatry

คลีนิกบำบัดรักษาเท้า Premier Podiatry ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ยังคงเปิดให้บริการในช่วงเวลา lockdown ด้วยความที่ธุรกิจมีสถานะกึ่งจำเป็น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการเดินทางออกนอกบ้านของผู้คนถูกจำกัด ทางคลีนิกจึงใช้วิธีสื่อสารกับผู้ใช้งานแบบต่างๆ เช่น แชทคุยสดกับแพทย์ อีเมล ข้อความสั้น วิดีโอคอลอย่าง FaceTime และแอปพลิเคชันของแพทย์โดยเฉพาะ doxy.me ซึ่งบางช่องทางเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง กลายเป็นค่อนข้างสะดวกและเป็นทางออกที่ได้รับความนิยมทั้งแพทย์และคนไข้

หากมีเคสรักษาที่ต้องพบแพทย์เร่งด่วน ทางคลีนิกจะใช้วิธีโทรติดต่อเข้ามาก่อนพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์เตรียมตัวในการสัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ที่สถานพยาบาล และทางสถานพยาบาลจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่ทุกครั้งหลังการรักษาและทุกวันที่ทำการโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ

ขณะที่คลีนิกทำเลสิคสายตา Brinton Vision ในรัฐมิสซูรี ก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กัน และเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อเพื่อเรียกความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและลูกค้า เพราะเชื่อว่าแม้รัฐบาลจะยกเลิกมาตรการ Lockdown แล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเรียก “ความเชื่อมั่น” ของลูกค้ากลับมาได้ ความกลัวและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ภาคธุรกิจจึงต้องพูดย้ำและลงมือทำให้ลูกค้าเข้าใจและมั่นใจว่าสุขภาพของพวกเขาจะปลอดภัยด้วย

ทางคลีนิก Brinton Vision จึงเริ่มต้นจากให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองพื้นฐาน อย่างการอบรมความรู้ด้านความสะอาดและการฆ่าเชื้อพนักงานทุกคน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสกับลูกค้า เช่น ผู้เชี่ยวชาญ พนักงานต้อนรับ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในออฟฟิศ เช่น ฝ่ายตอบคำถามทางโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ประสานงานภายใน เรื่องที่อบรมก็เช่น การล้างมือ การแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้ที่เข้าสถานที่ทุกคน การสกรีนอาการของลูกค้าผ่านโทรศัพท์ การวัดอุณหภูมิ การฆ่าเชื้อโรค และการเว้นระยะห่างทางร่างกายหรือ Social distancing

กรณี#3 : ร้านขายของกิน

ร้านอาหาร คือธุรกิจเบอร์ต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดกิจการกระทันหัน หลายคนเข้าใจว่า ร้านขายของกินหรืออาหารแบบ take away รอดพ้นหรืออยู่ได้กับวิกฤตนี้ ได้ไม่ใช่เสียทีเดียว

ธุรกิจโควิด, new normal

Credit : The Cookie Cups

ร้านขายขนมอบ The Cookie Cups ในรัฐมินเนโซตา เพิ่งเปิดร้านขายเบเกอรี่สาขาที่ 2 ได้เพียง 5 เดือน ช่วงเวลาเรียกทุนสร้างร้านคืนนี้ถูกยุติลง และแม้ว่าร้านขายขนมแห่งนี้จะเป็นร้านขายแบบไม่ได้นั่งกิน แต่รายได้ส่วนหนึ่งของร้านมาจากการเปิดชั้นเรียนสอนทำขนมและให้เช่าสถานที่ทำกิจกรรมภายในร้านด้วย

สิ่งที่เจ้าของร้าน The Cookie Cups ทำ คือเปิดระบบรับออเดอร์ขนมเพื่อส่งตามบ้าน และกำลังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คาดว่าในเดือนมิ.ย. นี้จะสามารถขายออนไลน์ได้ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแค่ในชุมชน ในเมือง หรือภายในรัฐอีกต่อไป

ในบ้านเรา รูปแบบที่คล้ายกันนี้คือ After You แบรนด์ร้านขนมหวานชื่อดังที่มีขนมปังอบฮันนี่โทสต์และน้ำแข็งไสคาคิโกริ เป็นเมนูชูโรงของร้าน ที่หันมาเน้นขายวัตถุดิบ เช่น แป้งแพนเค้กสำเร็จรูป ควบคู่ไปด้วย  แม้แผนที่ว่ามาจะไม่ได้แก้ปัญหาในระยะสั้นได้ชัดเจน แต่ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเพื่อการขายออนไลน์และเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากๆ น่าจะให้ผลดีในระยะยาว

ปรับเงิน : แผนการเงิน ธุรกิจหลังโควิด

การเงิน เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจที่ได้รับการกระทบกระเทือนมากที่สุดในช่วงโควิด-19 วิกฤตครั้งนี้ยังไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งไหนๆ เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า คาดการณ์ว่าน่าจะมีเพียงแค่ 5% ของธุรกิจทั้งหมดที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเลย

ธุรกิจไหนที่กำลังเตรียมตัวกลับดำเนินธุรกิจหลังโควิดตามปกติอีกครั้ง นิตยสารธุรกิจชื่อดัง Forbes ได้แนะนำ 6 ประเด็นการเงินที่ควรพิจารณาหากจะเดินหน้าธุรกิจต่อจากนี้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก

ธุรกิจหลังโควิด, new normal

1. ประเมินความเสียหายทางการเงิน

ตัวเลขด้านการเงินมีหลายส่วน เริ่มจากอัปเดตสถานะการเงินทั่วไป เช่น กำไร ขาดทุน หรือสภาพคล่องทางการเงิน ลองเปรียบเทียบกับรายรับรายจ่ายของช่วงเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ระหว่างช่วงโควิด มีกิจกรรมทางธุรกิจอะไรบ้างที่เกิดขึ้น เช่น ให้พนักงานออกจากงานเพื่อลดต้นทุน ตัดลดงบประมาณโฆษณาและการตลาด หรือแม้แต่ลูกค้าหันไปหาบริษัทคู่แข่ง ก็ต้องเอามารวมอยู่ในบัญชีความเสียหายนี้ด้วย เพื่อให้เจ้าของธุรกิจเข้าหาที่พึ่งทางการเงินได้ถูกที่

2. พิจารณาแผนธุรกิจที่ใช้อยู่อีกรอบ

สภาวะปกติใหม่ แปลว่า ปกติแต่ไม่เหมือนเดิม ช่วงโควิด ทุกคนได้เรียนรู้กันแล้วว่าอะไรที่เคยทำได้อาจจะทำไม่ได้ (และอะไรที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ พอเข้าตาจนก็ต้องทำให้ได้เพื่อให้อยู่รอด) แผนธุรกิจที่ใช้อยู่หรือเคยใช้ ต้องปรับใหม่กันอีก

เช่น หากที่ผ่านมาทำธุรกิจที่ขายหน้าร้าน ลูกค้าเดินมาซื้อของถึงร้าน อาจจะต้องปรับให้สามารถขายของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งเรื่องสินค้า การหาบรรจุภัณฑ์หีบห่อ การรับและตอบคำสั่งซื้อออนไลน์ การชำระเงินออนไลน์ การส่งสินค้า หรือถ้ามีการสั่งและส่งสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว อาจต้องปรับแผนการส่งสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทุกอย่างคือ การปรับหรือตั้งเป้าหมายใหม่ ซึ่งการปรับแผนธุรกิจต้องปรับงบการเงินให้สัมพันธ์กันด้วย

นอกจากนี้ยังต้องสังเกตวงการธุรกิจที่ตัวเองอยู่ ว่าเขากำลังทำอะไรกัน เทรนด์ไปทางไหน มีโอกาสอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ หากสามารถมองหาโอกาสและธุรกิจของเรามีทรัพยากรไปเติมโอกาสนั้นได้ยิ่งดี

อย่าลืมมองดูเป้าหมายธุรกิจหรือรายได้โดยภาพรวมด้วยว่า มีความเป็นไปได้ไหมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสะท้อนสถานการณ์ที่เผชิญจริงๆ เพราะการยึดเป้าหมายธุรกิจเดิม นอกจากจะไม่สะท้อนความเป็นจริงให้ธุรกิจได้พัฒนาอย่างตรงตามความเป็นจริงแล้ว ยังอาจเป็นการทำลายขวัญกำลังใจอย่างไม่เข้าท่าด้วย

3. ทบทวนว่า ธุรกิจหลังโควิด ต้องการเงินกู้มาช่วยไหม

ถ้าธุรกิจชะงักตัวในช่วงโควิด มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ประกอบการต้องการเงินสนับสนุนมาช่วยต่อทุน ซึ่งมีธุรกิจจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน และในขณะเดียวกัน เงินกู้ก็มีจำกัด สิ่งที่ธุรกิจของเราควรทำคือ เตรียมเอกสารหรือความพร้อมในการยื่นเรื่องขอกู้เงิน และมองหาตัวเลือกการกู้เงินไว้หลายๆ ที่เผื่อเลือกตัดสินใจ และเผื่อความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละเงินกู้ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

4. ปรับงบประมาณใหม่รองรับค่าใช้จ่ายใหม่

หลายธุรกิจหลังโควิดหรือหลังหยุดกิจการตามมาตรการรัฐ อาจจะอยู่ในสภาพต้องใช้เงินมากกว่าหาเงินได้ เพราะการดำเนินงานที่ทำไปก่อนหน้านี้ เช่น ลดคนงานออก หรือปรับแผนใหม่ ทำให้ต้องจ้างพนักงานที่มีความชำนาญด้านอื่นเข้ามาร่วมงาน หรือต้องจัดอบรมทักษะใหม่ให้กับพนักงานเดิม อาจต้องจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่เข้ามาใช้งาน หรือแม้แต่การโฆษณาธุรกิจใหม่

ซึ่งเป้าหมายของการปรับงบประมาณใหม่ คือเพื่อรองรับเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ ดังนั้นผู้บริหารต้องมีแผนที่ชัดเจนแล้วก่อน แผนนั้นควรจะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ในสภาพที่คล่องตัวที่สุด ในการปรับเปลี่ยนตัวเองและพร้อมกระโจนเข้าหาโอกาสในสถานการณ์ที่คาดเดาอะไรได้ยากเช่นนี้

5. กำหนดกรอบเวลาของการฟื้นธุรกิจ

มีหลายสิ่งที่ต้องทำมากในช่วงเวลาแบบนี้ แต่การทำหลายอย่างพร้อมกันให้ออกมาดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก การกำหนดกรอบเวลาของภารกิจแต่ละอย่างจะช่วยกระตุ้นขั้นตอนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เห็นภาพชัดเจน และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำทั้งหมดที่มีอยู่

ตัวอย่างเช่น เป้าหมายแรกของธุรกิจคือ วางแผนธุรกิจใหม่ และหาเงินทุนก้อนใหม่มาหมุน เมื่อได้มาแล้ว ก็เริ่มวางแผนจ้างพนักงานใหม่ สต็อกสินค้าของใช้ใหม่ ตั้งระบบทุกอย่างใหม่พร้อมก็เปิดรับลูกค้าใหม่ (ในกรณีที่ธุรกิจปิดไปเพราะสถานการณ์ภายนอก)

กิจกรรมทั้งหมดให้บันทึกไว้ เพื่อติดตามผลว่า การใช้จ่ายมีประสทิธิภาพหรือไม่ แผนการจุดไหนที่ไม่เวิร์คหรือปรับให้ดีขึ้นได้กว่านี้หรือเปล่า ส่วนระยะเวลาการติดตามผล ช่วงแรกอาจจะติดตามถี่หน่อย ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละองค์กร แล้วค่อยปรับเมื่อธุรกิจเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ

6. คิดแผนฉุกเฉินเผื่อวิกฤตครั้งต่อไป

แม้สถานการณ์โควิดจะเป็นเหตุที่เรียกได้ว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิต” หรือนานๆ ครั้งแบบในร้อยปีจะเกิดสักที แต่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อเกิดขึ้นก็พร้อมจะสกัดขาธุรกิจของเราที่กำลังวิ่งอยู่ให้สะดุดหกล้มหัวทิ่มได้

ลองใช้เหตุการณ์ที่เผชิญ กลั่นกรองเป็นบทเรียนไว้เตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ตอนนี้ เช่น สิ่งที่ได้พบคือ การขายของหน้าร้านไม่ได้ ทำให้ขาดรายรับขาดเงินสด แผนการที่ต้องมีคือ ทำอย่างไรให้มีเงินสดเผื่อจ่ายและต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอให้อยู่รอดระหว่างที่หาทางออกอื่น หรือทำให้ธุรกิจคล่องตัวด้วยการใช้หนี้ให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือหาวิธีช่วยให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน ซึ่งแผนที่ว่าจะมีกี่แผนก็ได้ ขอแค่ให้ทั้งหมดสามารถใช้ได้จริงและเข้ากับสถานการณ์

ปรับคน : ดูแลพนักงานและลูกค้า

อีกปัจจัยที่สำคัญมากคือ คน คนที่ว่านี้คือ ทั้งพนักงานและลูกค้า มีคำแนะนำมากมายว่าควรทำอย่างไรถึงจะทำให้พนักงานและลูกค้ากลับเข้าสู่ระบบธุรกิจได้อย่างปลอดภัยปลอดโรค แต่คำแนะนำที่น่าสนใจจากหัวหน้าทีมดูแลงานควบคุมโควิดของบริษัทกฎหมาย Fisher & Phillips กลับเตือนว่า มีหลายสิ่งที่ไม่ควรทำในแผนฟื้นฟูสถานการณ์ด้านคนในช่วงโควิดที่ต้องคอยดู ซึ่ง WOW หยิบยกบางส่วนที่เข้ากับบริบทของบ้านเราได้มาฝาก

ธุรกิจโควิด, new normal

1. ไม่คาดหวังว่าการรักษาระยะห่างจะสามารถทำได้แน่นอน

การรักษาระยะห่าง เป็นมาตรการที่ได้ผลดีในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่เมื่อธุรกิจขับเคลื่อนได้จากการที่ผู้คนมารวมกันอยู่ในพื้นที่ ก็อาจจะขัดกับการรักษาระยะห่างได้

หรือข้อกำหนดเรื่องระยะห่างมีช่องว่างตรงไหนบ้าง เช่น การไม่จำกัดของการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องพักพนักงาน ห้องน้ำ, การทำงานที่ต้องพบเจอกับผู้คนภายนอกตลอดเวลา เช่น พนักงานต้อนรับ ธุรกิจจะดูแลพนักงานแผนกนี้อย่างไร ซึ่งที่ Fisher & Phillips ถึงขั้นจัดการจราจรให้ทางเดินภายในองค์กรเป็นแบบวันเวย์ เพื่อลดการพูดคุยระหว่างทางของคนเลยทีเดียว

2. ไม่คาดหวังว่าพนักงานทุกคนจะรู้สึกปลอดภัยพอที่จะกลับมาทำงาน

แม้สถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้น หรือมีมาตรการณ์ความสะอาดที่พร้อมพรั่ง แต่เมื่อการรักษาหรือป้องกันยังไม่สามารถทำได้ ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่วางใจในสถานการณ์ ซึ่งอาจรวมถึงพนักงานบางส่วนที่พร้อมจะออกมาทำงานเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้

สิ่งที่บริษัทต้องคิดแทนที่เข้าไปคือ แล้วหากเกิดเงื่อนไขนี้ในปริมาณที่มาก จะทำอย่างไรให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้ เช่น ให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ การใช้โปรแกรมออนไลน์เพิ่มเติม หรือการปรับวิธีการทำงาน เพิ่มแรงจูงใจให้พนักงานกล้ากลับมาทำงาน ซึ่งให้การดำเนินธุรกิจและสวัสดิภาพของพนักงานเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล

3. ไม่แจกอุปกรณ์ป้องกันโดยไม่อธิบายขั้นตอนการใช้ที่ถูกต้อง

ผู้คนรู้จักโควิดและการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อมาสักระยะแล้ว แต่เพื่อให้แน่ใจว่า มาตรการการดำเนินกิจการอย่างปลอดภัยจากเชื้อเป็นไปตามทิศทางที่วางไว้ บริษัทควรอธิบายแผนป้องกันเชื้อโรค ซึ่งรวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อและการปฏิบัติตัวใหม่อีกครั้ง เช่น วิธีการสวมหน้ากากและวิธีการถอดเก็บระหว่างวัน วิธีการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ วิธีการใช้ของใช้และสถานที่ส่วนรวม เป็นต้น

4. อย่าลืมดูแลบุคคลภายนอกที่ติดต่อกับออฟฟิศ

หลังจากดูแลพนักงานแล้ว อย่าลืมดูแลบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในสำนักงานหรือพื้นที่การขาย เช่น ลูกค้า คนส่งของ หัวหน้าทีมดูแลจาก Fisher & Phillips แนะว่า หลายบริษัทจะแปะป้ายวิธีการปฏิบัติไว้ที่หน้าสำนักงานให้ผู้มาติดต่อทำความเข้าใจเพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้องก่อนเข้าพื้นที่ หรือให้ใช้วิธีการโทรหาคนในบริษัทแทนการเข้ามาในพื้นที่ทันที

WOW ส่งท้าย

แม้ว่าจะต่างพื้นที่ ต่างกฎเกณฑ์ ต่างประเภทธุรกิจ แต่อย่างหนึ่งที่ทุกธุรกิจมีเหมือนกันคือ ต้องเตรียมตัวเพื่อเดินหน้าต่อด้วยความระมัดระวัง ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และความเข้าใจในหลักการ ยิ่งปรับตัวได้มากและเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งผ่านพ้นสถานการณ์ที่เจออยู่ไปได้ง่ายขึ้น 

สำหรับธุรกิจไหนที่อยากทำตลาดออนไลน์ รับออเดอร์ได้ไม่จำกัดพื้นที่ด้วยเว็บไซต์พร้อมระบบ ปรึกษา WOW ได้ฟรี เพื่อค้นหาเว็บไซต์ที่เข้ากับธุรกิจของคุณมากที่สุด พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคอยดูแลเว็บไซต์ให้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ธุรกิจสามารถต่อยอดได้ไกล ทำกำไรได้มากกว่า 

อ้างอิง :

uschamber.com, forbes.com

อยากทำเว็บไซต์ธุรกิจที่ช่วยสร้างยอดขายได้จริง ปรึกษา WOW ฟรีที่นี่

รับบทความใหม่ ไปอ่านก่อนใครไหม?

ทำธุรกิจออนไลน์ด้วยความรู้อัปเดต เข้าใจง่าย ได้ยอดขายดีจริงๆ กันดีกว่า!

บทความน่าอ่านในหมวดเดียวกัน

online-learning-drm-solutions
e-Learning

DRM (การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล) ในระบบการเรียนการสอนออนไลน์

DRM (การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล) ในระบบการเรียนการสอนออนไลน์ การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล (Digital Rights Management – DRM) เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเข้าถึงและการกระจายเนื้อหาดิจิทัล เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์, วิดีโอ, และเพลง เพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่ได้รับอนุญาต ในยุคที่เนื้อหาดิจิทัลสามารถถูกคัดลอกและแชร์ได้อย่างง่ายดาย การใช้ DRM จึงมีความสำคัญมากขึ้นเพื่อรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของผู้สร้างเนื้อหา รวมถึงการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ความหมายของ DRM DRM คือการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันและควบคุมการใช้งานเนื้อหาดิจิทัล โดยการจำกัดการคัดลอก,

Management

Work From Home แบบคูลๆ! 9 ทิปส์ใช้ Zoom วิดีโอคอล ได้คล่องและสนุก!

สำหรับคนที่ทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ไม่ว่าจะทำเป็นประจำอยู่แล้วหรือต้องปรับโหมดมาทำงานที่บ้านด้วยสภาวะจำเป็น เช่น หลีกเลี่ยงโรคระบาด เกิดเหตุจลาจล น้ำท่วม ฯลฯ  วิธี “ประชุมทางวิดีโอ” หรือ วิดีโอคอล ก็มักเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับการหยิบยกมาใช้กัน หลายบริษัทมักใช้โปรแกรม วิดีโอคอล กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่โปรแกรมที่เป็นที่พูดถึงในแวดวงคนทำงานอย่างมากในช่วงเวลานี้คือ Zoom (ซูม) เหตุผลหลักที่คนให้ความสนใจพูดถึงและเลือกใช้ Zoom กันมากเป็นพิเศษเป็นเพราะ Zoom