นอกจากกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 (โควิด-19) ที่เริ่มต้นการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2019 ในเวลานี้ก็กำลังซัดเข้าภาคธุรกิจอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายสินค้าหรือบริการ คนทำงานทุกคนยังทราบดีว่า ผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ เมื่อบริษัทขายสินค้าให้ลูกค้าได้น้อยลงหรือไม่ได้ ผู้ผลิตต้นทางก็จะขายวัตถุดิบหรือทรัพยากรสู่บริษัทน้อยลงหรือไม่ได้เช่นกัน
ทุกความพ่ายแพ้ ย่อมมีผู้ชนะ
สงครามการค้า น้ำมัน การเมืองภายในประเทศ ตลาดหุ้นขานรับกับทุกปัจจัยด้านลบที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ โควิด-19 ตลาดหุ้น Dow Jones ของสหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีที่หลายประเทศใช้ดูเพื่ออ้างอิงเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ก็มีทิศทางตกลง เมื่อข่าวการพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มากขึ้นในประเทศ แต่สำนักวิเคราะห์ข่าวการตลาด MARKETSINSIDER โดยสำนักข่าว INSIDER มองว่า ช่วงวิกฤตการค้าที่เกิดจากประชาชนไม่สามารถเอาตัวเองมาเข้าถึงสินค้าได้ ธุรกิจที่เข้าหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์กลับเฟื่องฟู นักลงทุนหันมาลงทุนกับธุรกิจเหล่านี้จนส่งผลให้ดัชนีหุ้นบริษัทเหล่านี้ขึ้น สวนทางกับกระแสธุรกิจส่วนใหญ่ของโลก ตัวอย่างธุรกิจที่ไปได้ดีสวนทางธุรกิจส่วนใหญ่กำลังย่ำแย่ หรือ “รุ่งเรืองท่ามกลางรุ่งริ่ง” ก็เช่น
- ส่งอาหาร
- สตรีมมิ่ง (ภาพยนตร์, ละคร, คอร์สเรียนหนังสือหรือออกกำลังกายออนไลน์)
- ระบบประชุมผ่านวิดีโอคอล
- อุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ
- ชุดวัตถุดิบเพื่อทำอาหารเองที่บ้าน
- อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ซ่อมแซมบ้าน
จุดร่วมส่วนใหญ่ที่ธุรกิจเหล่านี้มีร่วมกัน คือ การไม่ต้องเจอหน้ากัน การใชีชีวิตอยู่ในพื้นที่(ปลอดภัย)ของตัวเอง และการปกป้องดูแลสุขภาพร่างกายเป็นหลัก
กรณี #1 : ส่งอาหารโดยวางไว้ที่หน้าประตู
ธุรกิจส่งอาหาร Chanmao ในแคนาดา พัฒนาระบบ “ส่งอาหารแบบไม่ต้องพบหน้ากัน” ให้ผู้สั่งอาหารกรอกรายละเอียดได้เลยว่า ให้พนักงานส่งอาหารไว้ที่หน้านิติบุคคล หน้าประตูห้อง ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ลูกค้าและผู้ส่งอาหารสบายใจว่า ไม่ต้องพบหน้ากันเพื่อส่งอาหารให้ นโยบายพิเศษนี้เกิดขึ้น หลังจากลูกค้าส่วนหนึ่งเขียนข้อความแปะไว้ที่หน้าห้องพักหรือประตูบ้านของตัวเองว่า ให้แขวนอาหารที่สั่งไว้ที่หน้าประตูหรือนิติบุคคลของตึก มีรายงานเพิ่มว่า Uber Eats ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน
กรณี #2 : แพ็กเกจดูสตรีมมิ่งผ่านมือถือโดยเฉพาะ
ค่ายสตรีมมิ่ง Netflix จัดแพ็กเกจดูหนัง ซีรี่ส์ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า สตรีมมิ่ง ผ่านสมาร์ทโฟน ในราคาถูกกว่าแพ็กเกจปกติ หวังดึงกลุ่มลูกค้าคนเดียว ไม่แชร์บัญชี Netflix กับใคร (หรืออาจจะหาคนแชร์ Netfix ด้วยไม่ได้) ยิ่งในช่วงที่คนเริ่มมีคำสั่งให้อยู่บ้านหรืออาจถูกกักตัวพิเศษ ออกไปเจอโลกภายนอกไม่ได้ โปรโมชั่นแบบนี้ยิ่งเหมือนเป็นเพื่อนแก้เหงาในราคาน่าคบมากขึ้นกว่าเดิม
กรณี #3 : ให้ลูกค้า Video Conference ได้แบบไม่จำกัดเวลา
Zoom สตาร์ตอัพให้บริการระบบ Video Conference เปิดให้ลูกค้าที่ใช้งานของ Zoom ฟรีอยู่ตามปกติในจีน สามารถใช้ระบบ Video Conference เป็นกลุ่มได้แบบไม่จำกัดเวลา จากเดิมที่ลิมิตไว้ที่ 40 นาที รวมถึงโรงเรียนและบริษัททั่วสหรัฐด้วยเป็นกรณีพิเศษ แง่หนึ่งเป็นการทำ CSR คืนกำไรให้สังคมในช่วงยากลำบาก และอีกแง่ก็ส่งเสริมให้ลูกค้าลองใช้ระบบของ Zoom มากขึ้น ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนเป็นลูกค้าที่ยอมจ่ายเงิน เพื่อซื้อระบบเสริมได้ในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม : 25 ศัพท์ SEO พื้นฐาน ที่เจอบ่อยและน่าจำ! (อัพเดต 2020)
กรณี #4 : ขายอาหารแถมอุปกรณ์การกิน ช่วงเวลาโรคระบาด การไม่ออกจากบ้านเป็นคำแนะนำทางการแพทย์และเพื่อความอยู่รอดด้านสุขภาพ (ไม่ได้แปลว่าจำเป็น ในแง่ของการดำรงชีพทางเศรษฐกิจ) ซึ่งเมื่อผ่านเวลาการกักตัวสักระยะหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งเริ่มรู้สึกโหยหากิจกรรมที่ทำได้นอกบ้าน หนึ่งในนั้นคือ การกินข้าวจิบชาในร้านอาหารหรือร้านกาแฟ ประจวบกับร้านอาหารทั้งหลายที่ต้องหาทางออกทางรอด จนเป็นที่มาของการขายอาหารพร้อมอุปกรณ์การกิน เช่น หม้อต้ม หม้อชาบู เตาปิ้งย่าง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่อยากกินอาหารเหล่านี้ แต่ไม่มีอุปกรณ์ที่บ้าน หรือชอบโปรโมชั่นของแถม นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารร้านขายเครื่องดื่มอีกหลายแห่ง ที่ใช้วิธีซื้อ 1 แถม 1 ทุกเมนู เพื่อกระตุ้นยอดขายด้วย
ธุรกิจไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ ก็รอดจาก โควิด-19 ได้
หัวใจสำคัญของการจัดการทุกวิกฤตคือ การเตรียมการหรือตั้งรับ เช่นเดียวกันกับ วิกฤต โควิด-19 WOW มี 7 คำแนะนำธุรกิจน่าสนใจจาก Strategy+business (s+b) นิตยสารด้านการจัดการธุรกิจชั้นนำมาฝาก ที่อ่านแล้วใช้ทำตามได้จริงด้วย 1. ทบทวนวิธีเดินทางของทีมงาน เจ้าของธุรกิจต้องทบทวนตอนนี้เลยว่า บริษัทมีพนักงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเท่าไหร่ (ส่วนมากแล้วก็คือทั้งหมด) จากนั้นก็คิดหาวิธีการทำงานว่า สามารถทำงานส่งจากบ้านได้หรือไม่ ใครที่จำเป็นต้องทำงานที่บ้านบ้าง หากจะมีจัดทริปเดินทางดูงาน ควรเลื่อนหรือยกเลิกไปก่อนหรือเปล่า เมื่อหาข้อสรุปวิธีทำงานได้แล้ว ให้ประกาศให้ทุกคนรับทราบในทิศทางเดียวกันทันที 2. ปรับแผนธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ประเมินกันในระยะสั้นๆ เช่น เดือนต่อเดือน หรือแม้แต่สัปดาห์ต่อสัปดาห์ถ้าจำเป็น ปรับแผนการทำงานของพนักงาน ถ้าพนักงานต้องทำงานที่บ้าน มีอุปกรณ์พร้อมไหม เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่โต๊ะทำงานที่บ้านของพนักงาน มีพร้อมหรือเปล่า ส่วนแผนดำเนินธุรกิจ เจ้าของธุรกิจและหัวหน้าทีมต้องหาแผนหาเงินเข้าบริษัทแบบระยะสั้นเพื่อให้สภาพคล่องขององค์กรยังคงอยู่ เช่น ขายสินค้าหรือบริการที่เน้นที่ความจำเป็นของลูกค้า ขายสินค้าหรือบริการให้ลูกค้าทางออนไลน์ ไม่ต้องเจอหน้ากันเลย ได้หรือไม่ อะไรที่ปรับได้ต้องรีบทำด่วน 3. ทบทวนการใช้ Supplier และ Partner คนที่เรารับวัตถุดิบมาหรือ Supplier ยังพร้อมร่วมงานกับเราอยู่ไหม เช่น มีของส่งให้หรือเปล่า มีบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ถ้าไม่สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้ในช่วงนี้ บริษัทของเรามี Supplier เจ้าสำรองอยู่หรือเปล่า หรือการร่วมงานกับบริษัทคู่ค้าหรือ Partner ส่งผลดีคุ้มค่ากับต้นทุนที่ลงทุนไปหรือไม่ เช่น ธุรกิจโรงแรมและบริการเพื่อการท่องเที่ยวที่พึ่งพา OTA (Online Travel Agency) เต็มตัว ควรต้องเริ่มกันมาพึ่งพาตัวเอง เพื่อให้สามารถควบคุมการทำราคาแบบ dynamic และทำโปรโมชันตามใจตัวเองได้มากขึ้นหรือไม่ เพื่อสร้างกำไรในแบบที่ธุรกิจต้องการ 4. สำรวจสถานการณ์ภายในธุรกิจ ว่าส่วนไหนได้รับผลกระทบ ทุกคนในองค์กรช่วยกันดูว่า แผนกใดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง คนในองค์กรคนไหนที่มีทักษะในการแก้วิกฤตนี้ได้โดยตรง องค์กรสามารถลดการปฏิบัติงานแบบต้องเจอหน้ากันหรือออกไปเจอคนนอกองค์กรได้หรือไม่ในช่วงเวลานี้
5. สื่อสารภายในองค์กรให้ชัดเจนที่สุด ช่วงนี้ ข่าวสารและข้อมูลมากมายหลายช่องทางจะทะลักและตีกันยุ่งไปหมด เป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แผนและการดำเนินการขององค์กรเพื่อตอบรับสถานการณ์นี้ในระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อสร้างความเข้าใจของพนักงานให้ตรงกัน ลดหรือป้องกันการสื่อสารผิดพลาด รวมถึงเรียกขวัญกำลังใจของพนักงานให้กลับคืนมาด้วย 6. นึกภาพเหตุไม่คาดฝันขององค์กรและหาทางรับมือ Bill Gates ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Microsoft มองว่า โควิด-19 เป็นเชื้อโรคที่เขาเรียกกันว่า อุบัติอย่างร้ายแรงครั้งแรกในรอบ 100 ปี ดังนั้น วิธีการรับมือจะต้องแตกต่างหรืออาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือ นั่นหมายความว่า บริษัทต่างๆ อาจมีความเป็นไปได้มากที่จะรับมือไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น บริษัทต่างๆ ในช่วงนี้ ต้องเริ่มคิดถึงสถานการณ์ไม่คาดฝัน เคสเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ว่าถ้าเช่นนั้นแล้ว บริษัทจะทำอย่างไรต่อไป 7. ไม่มองข้ามความเสี่ยงธุรกิจอื่นๆ โควิด-19 ไม่ใช่ความเสี่ยงเดียวที่ธุรกิจมี บริษัทต้องไม่ทุ่มโฟกัสไปที่จุดเดียว จนไม่ระวังเรื่องอื่นๆ เช่น การแฮกข้อมูล การฉ้อโกงภายในในช่วงธุรกิจชุลมุน
WOW ส่งท้าย
เวลานี้ ทั้งโลกอยู่ในภาวะวิกฤต โควิด-19 ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก (11 มี.ค. 2563) ก็จริง และการระบาดครั้งนี้ ทุกคนอาจต้องใช้เวลารับมือเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ธรรมชาติของทุกปัญหา คนที่เตรียมพร้อมรับมือไว้ดีกว่าย่อมฟื้นตัวได้ไวกว่า หากอยากใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมตัวเพื่อพร้อมรับการกลับมาเดินหน้าของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ สามารถปรึกษาการทำเว็บไซต์เพื่อทำธุรกิจกับ WOW ได้ เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการทำระบบหลังบ้าน เพื่อรองรับยอดขายออนไลน์ เพิ่มกำไร และการควบคุมการบริหารธุรกิจได้ง่ายและด้วยตัวเอง ให้ธุรกิจของคุณกระโจนไปข้างหน้าได้ไวกว่าคู่แข่งในการกลับมาครั้งนี้ อ้างอิง : bnnbloomberg.ca, nasdaq.com, strategy-business.com, cnbc.com/