หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง หาเงินบน Instagram (อินสตาแกรม) แค่ถ่ายรูปแล้วโพสต์ ก็มีรายได้เข้ากระเป๋า ฟังแล้วว้าวมาก แต่เอาเข้าจริง เราจะทำได้จริงๆ หรือเปล่า?
ซึ่งก็มีคนทำได้จริงๆ อยู่ เช่น ดารา คนดัง หรือผู้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งพอวิเคราะห์เจาะลึกกันแล้ว คนประเภทนี้มีทีเด็ดอยู่ 2 อย่าง คือ จำนวนคนที่โพสต์เข้าถึง (Reach) และอิทธิพลของโพสต์ (Influence)
Reach และ Influence จะนำไปสู่การสร้างรายได้ ทั้งรายได้โดยตรง เช่น การขายของ หรือทางอ้อมอย่างการได้ค่าตอบแทนจากการโปรโมทสินค้า
สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา หรือคนดังในวงการต่างๆ Reach และ Influence ส่วนหนึ่งมาจากฐานแฟนคลับของตัวเอง และทำเพิ่มอีกก็ได้ไม่ยาก
แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปหรือแบรนด์ที่เพิ่งตั้งใหม่ก็อาจต้องใช้วิธีสร้างขึ้นมา แต่รับรองว่าไม่ได้ยากขนาดนั้น และไม่ว่าตอนนี้จะมีคนติดตาม (Follower) อยู่เล็กน้อยเท่าไหร่ในตอนนี้ ก็สามารถสร้างขึ้นได้
WOW จะมาแชร์วิธี หาเงินบน Instagram หรือ ไอจี (IG) ที่ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือแบรนด์ธุรกิจก็ใช้วิธีนี้ได้
ต้องมีคนติดตามในไอจีเท่าไหร่ถึงจะหาเงินได้?
มีคนตามเท่าไหร่ในไอจีถึงจะสามารถทำเงินได้ จริงๆ แล้ว จำนวนคนติดตามไม่ต้องมีมากตั้งแต่แรกก็ได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้ไอจีมีความน่าสนใจและมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน จนเพิ่มคนติดตามได้มาจาก
- ความเชี่ยวชาญ/ความสนใจของอินสตาแกรม ข้อมูลจากอินสตาแกรมเป็นเรื่องที่คนสนใจเยอะหรือไม่ หรือมีคนสนใจเยอะจนมีคนทำเนื้อหาออกมาคล้ายๆ กันอยู่แล้วหรือเปล่า (ความสนใจยอดฮิต เช่น แฟชั่น อาหาร ความสวยความงาม สุขภาพ) แล้วอินสตาแกรมนี้โยงเข้าการขายสินค้า/บริการหรือธุรกิจได้แนบเนียนแค่ไหน
- การปฏิสัมพันธ์ของผู้ติดตามกับอินสตาแกรม เวลาโพสต์มีคนคอมเมนต์ กดไลค์ หรือแชร์บ้างหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน คอมเมนต์มักพูดว่าอะไรบ้าง
- ช่องทางที่รายได้เข้ากระเป๋าของเจ้าของอินสตาแกรมคือทางไหน เช่น ลูกค้าคลิกเข้าไปซื้อสินค้า/บริการผ่านอินสตาแกรม (Instagram for Business) ลูกค้าส่งข้อความมาขอซื้อของ ยอดไลค์เวลาโพสต์
หาเงินบน Instagram วิถีการเล่นโซเชียลฯ ฉบับปี 2020
เราสามารถ หาเงินบน Instagram ได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะและจุดประสงค์ของโพสต์ ผู้ติดตาม การพูดคุยบนโพสต์
ข้อดีของอินสตาแกรมอยู่ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับวิธีหาเงินวิธีใดอย่างหนึ่ง สามารถทำหลายๆ อย่างในอินสตาแกรมเดียวได้ ทีนี้มาดูว่า ทุกวันนี้มีวิธีไหนบ้าง
1. โพสต์เพื่อขายสินค้าหรือแบรนด์
การโพสต์ขายสินค้าหรือแบรนด์ เป็นวิธีที่อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) นิยมใช้กัน อินฟลูเอนเซอร์คือ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดหรือการตัดสินใจของคน
อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นดารานักร้องหรือคนดัง อาจจะเป็นคนทั่วไปที่สามารถเล่าเรื่องหรือพูดให้คนเข้าใจหรือจับใจคนฟังได้
ส่วนมากแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ คือคนทั่วไปที่สร้างชื่อเสียงในสื่อออนไลน์ด้วยการทำบางอย่างและแบ่งปันเรื่องราวนั้นบนสื่อ
เช่น รีวิวสิ่งของ อธิบายความรู้ต่างๆ หรือเล่าประสบการณ์ของตัวเองในเรื่องต่างๆ ด้วยการเลือกหัวข้อที่ผู้ให้ความสนใจเยอะ อินฟลูเอนเซอร์จึงมีผู้ติดตามเยอะตาม
ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ก็มองเห็นจุดนี้ ก็จะนำสินค้าหรือบริการของตัวเองมาจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้ช่วยโพสต์ ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ส่วนมากจะชี้แจงกับผู้ติดตามตรงๆ ว่า โพสต์ใดเป็นโพสต์ที่ถูกจ้างวาน
ด้วยการตั้งโพสต์นั้นว่าเป็น sponsored content หรือการใส่ # (แฮชแท็ก) แสดงว่า นี่คือรีวิวแบบจ้างในโพสต์นั้น
การคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ของแบรนด์ส่วนมากจะดูจากความน่าเชื่อถือของอินฟลูเอนเซอร์และลักษณะการพูดคุยบนโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์
เช่น อินฟลูเอนเซอร์ A น่าเชื่อถือแค่ไหน ในโพสต์มีคนคอมเมนต์คุยกันมากแค่ไหน คอมเมนต์เป็นไปในทิศทางไหน หรือลักษณะการโพสต์ส่งผลดีต่อแบรนด์หรือเปล่า
ในเวลาเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์เองก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการหารายได้กับการรักษาความน่าเชื่อถือของตัวเอง เพราะอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากสร้างตัวเองขึ้นมาจากความน่าเชื่อถือ การพูดสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ประสบการณ์จริง
อินฟลูเอนเซอร์ควรคัดเลือกแบรนด์ที่รับโฆษณาหรือร่วมงานด้วย เช่น อินฟลูเอนเซอร์สายความสวยงามเลือกโฆษณาแบรนด์เครื่องสำอางที่มีมาตรฐานไม่หลอกลวงผู้บริโภคเท่านั้น
นักชิมอาหารจะแสดงความคิดเห็นตามจริงแม้ว่าจะถูกจ้างให้รีวิว นักท่องเที่ยวถ่ายภาพสถานที่จริง ไม่ได้แต่งภาพจนผิดจากความเป็นจริง เป็นต้น เพื่อให้ตัวเองไม่เสียคุณค่าที่สร้างมาและสร้างภาพลักษณ์ที่ตัวเองอยากจะเป็นต่อไปในอนาคตผ่านงานที่รับโฆษณา
หาแบรนด์เพื่อร่วมงานด้วยได้จากที่ไหน?
หากมีชื่อเสียง แบรนด์หรือบริษัทต่างๆ จะวิ่งเข้าหา แต่อินฟลูเอนเซอร์ก็สามารถมองหาแบรนด์ที่เข้ากับความสนใจและลักษณะของตัวเองเพื่อร่วมงานได้
ซึ่งนี่อาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่ติดตามจะไม่รู้สึกว่า “พยายามขาย” มากเกินไป ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มรวมอินฟลูเอนเซอร์เกิดขึ้นมากมายหลายที่ทั้งรูปแบบเว็บไซต์หรือกลุ่มในเพจ Facebook ตัวอย่างแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ที่รู้จักกันดีอย่างเช่น
- Fohr และ Intellifluence เชื่อมอินสตาแกรม เว็บบล็อก ช่องยูทูบ และช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ มาทำเป็นเหมือนเรซูเม่ของอินฟลูเอนเซอร์ให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้ามาเลือกดูและติดต่อได้ง่ายๆ ส่วนอินฟลูเอนเซอร์ก็สามารถเลือกแบรนด์และเงื่อนไขที่ต้องการได้เช่นกัน
- Grapevine อินฟลูเอนเซอร์ที่จะสมัครเพื่อเปิดรับแบรนด์มาจ้างในเว็บนี้ ต้องมีผู้ติดตาม 5,000 คนขึ้นไป
- indaHash อินฟลูเอนเซอร์ต้องมีผู้ติดตามที่มีการ engagement ที่ดีอย่างน้อย 700 คน โดยในเว็บฯ จะมีแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาโพสต์เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์มาเลือกแคมเปญการตลาดไปโฆษณาได้ เมื่ออินฟลูเอนเซอร์ทำตามกติกาหรือได้ engagement จากผู้ติดตามตามที่แบรนด์กำหนด อินฟลูเอนเซอร์ก็จะได้ค่าตอบแทน
อินฟลูเอนเซอร์คิดค่าจ้างอย่างไรดี?
ธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์ ยังถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ราคากลางหรือราคาตลาดยังไม่ชัดเจน ที่จะมาสร้างบรรทัดฐานในการกำหนดค่าตอบแทนอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนได้
ค่าจ้างจึงมักขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างแบรนด์กับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ต้องมีราคาค่าจ้างในใจก่อน โดยอาจคิดจาก
- ชิ้นงานที่ผลิตให้ เช่น ภาพ วิดีโอ ไอจีสตอรี่ หรือการ boost post จ่ายเงินเพื่อโฆษณาโพสต์ให้ด้วย
- จำนวนผู้ติดตาม ผู้ติดตามที่มี engagement สม่ำเสมอเป็นใคร
- ยอดไลค์โดยเฉลี่ย ยอดไลค์ที่มากที่สุดคือเท่าไหร่ มาจากโพสต์อะไร ซึ่งถ้าเป็นโพสต์ที่สามารถขายแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ได้จะดีที่สุด
- ภาพลักษณ์ มีความเชี่ยวชาญด้านใด
2. เป็นคนช่วยขายของ
Affiliate เป็นวิธีช่วยขายของให้แบรนด์ โดยที่ผู้ช่วยขายหรือตัวแทนขายได้ค่าคอมมิชชัน แต่ในที่นี้ขอใช้คำว่า ช่วยขาย เพราะผู้ที่ใช้วิธี Affiliate จะขายให้กับแบรนด์อะไร หรือขายกี่แบรนด์ก็ได้ ไม่ใช่ตัวแทนแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง
วิธีการติดตามว่าได้ผลหรือไม่มักให้ผู้ติดตามที่สนใจคลิกลิงค์หรือใช้โค้ดพิเศษหรือ Promo Code ที่บ่งบอกว่ามาจากอินฟลูเอนเซอร์คนนี้
วิธี Affiliate อาจจะเห็นผลได้ชัดหรือไวกับอินฟลูเอนเซฮร์ที่มีผู้ติดตามอยู่แล้วมากๆ แต่หากวางแผนการโปรโมทดีๆ
เช่น ซื้อโฆษณาให้โพสต์ หรือโปรโมทหลายๆ ช่องทาง เช่น เพจ Facebook, Twitter หรือเว็บไซต์ส่วนตัว ก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมาทีละเล็กละน้อยได้
3. เปิดร้านขายของออนไลน์
Instagram อาจมีภาพเป็นพื้นที่สร้างอินฟลูเอนเซอร์ เน็ตไอดอล หรือช่องทางโปรโมทของบุคคลมีชื่อเสียง
แต่ที่จริงแล้ว เจ้าของธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ก็สามารถขายสินค้า/บริการของตัวเองผ่านช่องทางนี้ได้เช่นกัน โดยจะขายของผ่านอินสตาแกรมอย่างเดียวเลยก็ได้ โพสต์แล้วทำการซื้อขายผ่านการส่งข้อความและโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เป็นขั้นตอนแบบง่ายๆ
แต่หากต้องการจัดการเป็นระบบ ใช้การขายของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นตัวช่วย ปรับให้องค์กรเติบโตก้าวหน้าและสร้างพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ซื้อของในช่องทางหลักของตัวเอง การมีเว็บไซต์เป็นความจำเป็น โดยผูกเว็บไซต์เข้ากับอินสตาแกรมและใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางดึงลูกค้าเข้ามา ตัวอย่างของแบรนด์ที่ตั้งอินสตาแกรมเชื่อมกับเว็บไซต์
- ธุรกิจเปิดอินสตาแกรม โดยตั้งเป็น Instagram for Business ซึ่งสามารถใส่ราคาของสินค้า/บริการไว้ที่โพสต์ เป็นลิงค์ขยายสู่หน้ารายละเอียดเพิ่มเติม
- หน้ารายละเอียดเพิ่มเติมของผลิตภัณฑ์จะแสดงรายละเอียดเป็นภาพที่ใหญ่และชัดขึ้น รวมถึงปุ่มกดเข้าสู่หน้าขายบนเว็บไซต์ของบริษัท
- เข้าสู่หน้าขายบนเว็บไซต์หลัก ซึ่งสามารถคลิกดูผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือส่วนอื่นของเว็บไซต์บริษัทได้ตามปกติ
ทำอย่างไรให้มีคนติดตามในอินสตาแกรมเยอะๆ?
ผู้ติดตาม เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างตัวเองในสื่อออนไลน์ 12 วิธีเพิ่มยอดคนตามในไอจีที่ได้ผล ที่เลือกทำได้ตามเหมาะสม หรือถ้าทำได้ทั้งหมดรับรองว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่!
1. ติดแฮชแท็ก (#) ให้ตรงเป้าหมาย
แฮชแท็ก คือแท็กที่จะนำโพสต์บนสื่อออนไลน์ที่ติดเครื่องหมายเดียวกันมารวมอยู่ด้วยกัน การติดแฮชแท็กจึงมีความสำคัญอย่างมากเวลาที่ต้องการให้โพสต์ถูกค้นพบ
การติดแฮชแท็กช่วยให้คนที่ต้องการค้นหารูปภาพของเราหรือแบบที่เราทำ เจอโพสต์ของเราง่ายขึ้น
การติดแฮชแท็กถูกต้องจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง เช่น หากต้องการโปรโมทคลีนิกสัตว์เลี้ยง ควรติดแฮชแท็กว่า #โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง #คลีนิกสัตว์เลี้ยง มากกว่า #โรงพยาบาล หรือ #คลีนิก เฉยๆ #สุนัข อาจจะตรงกลุ่มเป้าหมายทั่วไปอยู่ แต่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะเสียทีเดียว
นอกจากต้องใช้แฮชแท็กให้ตรงกับโพสต์ ยังต้องเลือกแฮชแท็กที่คนใช้เยอะด้วย ซึ่งแฮชแท็กยอดนิยมหรือไอเดียแฮชแท็กสามารถค้นหาได้ใน Google โดย Instagram จะกำหนดให้โพสต์หนึ่งติดแฮชแท็กได้ไม่เกิน 30 แท็กต่อโพสต์
ตัวอย่างการใช้แฮชแท็กให้ตรงกับลักษณะของโพสต์ และทันตามกระแสนิยม
2. ใช้ฟิลเตอร์ที่ช่วยให้รูปดูดีขึ้น
มีผลวิจัยด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคบนอินสตาแกรมด้วยว่า ฟิลเตอร์ภาพแบบใดที่เรียกยอดไลค์ยอดคอมเมนต์มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถยึดเป็นต้นแบบการสร้างแบรนด์ของทุกแบรนด์หรือคนได้ ทั้งหมดควรขึ้นอยู่กับโทนที่แบรนด์ต้องการ
เช่น แบรนด์อาหารต้องการภาพสีสด ร้านขายอุปกรณ์โยคะต้องการภาพโทนสีสว่าง ใช้แสงเยอะที่ดูแล้วสงบ การใช้ฟิลเตอร์ใดๆ ควรส่งเสริมให้โพสต์ดูดีขึ้น ดูน่าซื้อน่ามองขึ้นแค่นั้นเอง
3. โพสต์ในเวลาที่เหมาสม
เวลาที่โพสต์มีผลอย่างมาก หากอยากให้โพสต์เข้าถึงคนได้เยอะๆ นอกจากผู้ติดตามเดิม ก็ควรโพสต์ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานอินสตาแกรมเยอะๆ เพราะถ้าโพสต์เวลาที่คนไม่ใช้งานอินสตาแกรม โพสต์ก็จะหายไปจากกระแส ถูกโพสต์อื่นๆ ดันหายไป
เว้นแต่ว่าโพสต์ของเราจะมี engagement กับผู้ติดตามดี ก็อาจมีสิทธิที่โพสต์จะยังอยู่ในฟีดของผู้ติดตาม แต่อาจไม่ตรงเป้าหมายของการโฆษณา
4. เปิดอินสตาแกรมเป็นสาธารณะ
ถ้าอยากให้มีผู้เห็นโพสต์เยอะๆ ก็ต้องเปิดบัญชีเป็นสาธารณะ เพราะถ้าปิดเป็นส่วนตัวก็จะจำกัดการมองเห็นเฉพาะ
5. ปักหมุดสถานที่เวลาโพสต์
การปักหมุดจะช่วยให้โพสต์เข้าถึงผู้คนที่เช็คโพสต์ในหมุดเดียวกันนั้นได้ ซึ่งอาจจะเป็นคนที่สนใจสิ่งที่อยู่ในพิกัดนั้น หรือเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น
เลือกปักหมุดเฉพาะสถานที่ที่น่าสนใจก็ได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว หรือที่ๆ กลุ่มเป้าหมายของเราชอบไป
6. โพสต์เรื่องที่มอบสาระประโยชน์ให้ผู้อื่น
ใครๆ ก็อยากได้สิ่งดีๆ หากโพสต์ของเรามีสาระความรู้หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้พบเห็น ก็จะช่วยเพิ่ม engagement ได้ดี และทำให้คนที่สนใจเลือกติดตามเราเพิ่มขึ้น
สอนวิธีออกกำลังกายให้ฟรี เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผู้คนให้ความสนใจมากและเป็นหัวข้อที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดเรื่องหนึ่ง
7. ขโมยผู้ติดตามจากคู่แข่งของเรา
การกดติดตามหรือให้ความสนใจกดไลค์ใส่คอมเมนต์ผู้ติดตามของคู่แข่ง ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้ติดตามเหล่านี้ได้ ทั้งการเข้าชมหรือแม้แต่การกดติดตามบัญชีของเรา
แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ถูกต้องนักและอินสตาแกรมเองก็มีกฎที่ไม่สนับสนุนการกระทำนี้ แต่การขโมยที่เราจะแนะนำนี้ก็ไม่ได้เป็นวิธีที่เลวร้ายหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นอย่างชัดเจน
8. จ่ายเงินโฆษณาโพสต์
การโฆษณาโพสต์จะช่วยเพิ่มการมองเห็นโพสต์ในกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ติดตามของเรา (แต่หากจะโฆษณาโพสต์ต้องเปลี่ยนเป็น Instagram for Business ก่อนด้วย)
9. โพสต์ให้ทันกระแส
การโพสต์ให้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน ช่วยเพิ่มการมองเห็นและปฏิสัมพันธ์ที่ดี เช่น เรื่องของโควิด-19, การออกจากบ้านไปใช้ชีวิตช่วงโรคระบาด, การใช้สื่อโซเชียลมีเดียรับข้อมูลข่าวสารในช่วงที่ข่าวปลอมเยอะ
เรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา หรืออาจจะเกี่ยวข้องไม่มาก แต่เราสามารถหาแง่มุมนำเสนอได้น่าสนใจ ก็สนับสนุนให้ทดลองโพสต์ดู
10. แจกของในอินสตาแกรม
นอกจากของดี ของฟรีคนก็ชอบเช่นกัน หากเราเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือแบรนด์แล้วอยากจะสร้างกิจกรรมสนุกๆ เพิ่ม engagement การแจกของก็เป็นกิจกรรมยอดนิยมที่ส่วนมากใช้ได้ผลตลอด
หรือจะเป็นการเล่นเกมเพื่อร่วมสนุกชิงรางวัลก็จะมีช่องทางให้สามารถเพิ่มคุณค่าของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำเพิ่มขึ้นได้
Giveaway คือ การแจกของฟรี ซึ่งถ้าเขียนไว้ให้เด่นเท่าไหร่ เป็นบรรทัดแรก จะช่วยดึงความสนใจได้ดี
11. โพสต์ไม่ต้องตลอดแต่สม่ำเสมอ
การโพสต์อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่ใช้วิธีโพสต์อย่างสม่ำเสมอ เช่น โพสต์ 3 วัน 1 ครั้ง โพสต์คลิปวิดีโอทุกวันจันทร์ ขอเพียงให้โพสต์อย่างสม่ำเสมอและเป็นโพสต์ที่มีความหมาย พยายาม “จัดหน้าบ้าน” ของเราให้สวย
หน้าบ้านในอินสตาแกรมไล่เลียงจาก ภาพประจำบัญชีอินสตาแกรม รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชี และ 9 โพสต์ล่าสุดที่คนจะมองเห็นก่อนโพสต์อื่นๆ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการบ่งบอกว่าอินสตาแกรมนี้เป็นใคร และมีประโยชน์กับผู้ติดตามอย่างไรบ้าง
12. ติดตามความเปลี่ยนแปลงของบัญชีอินสตาแกรม
Instagram for Business ก็เหมือนกับเว็บไซต์ที่มีระบบ Google Analytics ไว้คอยติดตามความเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงบนหน้าเว็บไซต์เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงบัญชีอินสตาแกรมต่อไป ซึ่งหากเปลี่ยนอินสตาแกรมมาใช้เพื่อธุรกิจอย่างเต็มตัวก็ควรติดตามความเปลี่ยนแปลงของมัน
ข้อมูลที่น่าสนใจควรรู้ก็เช่น มีคนคลิกเข้ามาดูหน้าบัญชีอินสตาแกรมเท่าไหร่ กดติดตามเท่าไหร่ แต่ละโพสต์เข้าถึงคนเท่าไหร่ โพสต์ที่มี engagement สูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ คือโพสต์อะไร เป็นต้น
WOW ส่งท้าย
การใช้ Instagram เพื่อขายของหรือส่งเสริมธุรกิจ ผลลัพธ์ต้องไม่จบแค่เพียงเพิ่มผู้ติดตามได้เยอะ แต่ต้องค้นหาและได้ใจผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของธุรกิจ ดังนั้น ข้อมูลที่เราต้องมีให้ชัดเจนคือ กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร และโพสต์ที่นำเสนอคืออะไร มอบคุณค่าอะไรให้กลุ่มเป้าหมาย
ที่สำคัญ การทำอินสตาแกรมเพื่อใช้กับธุรกิจควรมีระบบรองรับหรือเว็บไซต์ที่เป็นพื้นที่ขายที่ธุรกิจสามารถควบคุมและจัดการได้อย่างเต็มที่ๆ สุด
ซึ่ง WOW เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเว็บไซต์ธุรกิจพร้อมระบบซึ่งสามารถเชื่อมกับเครือข่ายโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายและการโฆษณาได้ก้าวกระโดด
สนใจปรึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ก่อนทำเว็บจริง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและทันโลกทันสถานการณ์ได้จริง ไม่ใช่แค่แผนหรือภาพฝันอีกต่อไป