ทุกบริษัทอยากให้มีลูกค้าเข้าไปดูสินค้าได้อย่างต่อเนื่องทั้งที่ไม่ได้มีสินค้าใหม่หรือโฆษณาอะไร เพราะถ้าทำได้ก็จะช่วยให้แบรนด์เติบโตในระยะยาว ลูกค้ารู้จักทั้งแบรนด์และสินค้า และหนึ่งในเทคนิคการตลาดที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถดึงดูดลูกค้าก็คือ Inbound Marketing
แล้ว Inbound Marketing คืออะไร และจะช่วยให้เราดึงลูกค้าได้อย่างไร เราไปทำความรู้จักกันเลย
Inbound Marketing คืออะไร
Inbound Marketing คือการทำตลาดที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาหาแบรนด์ ผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์จนลูกค้าเกิดความสนใจและติดตามแบรนด์ ทำให้แบรนด์กลายเป็นตัวเลือกในการใช้บริการของกลุ่มเป้าหมาย
วิธีการนี้แตกต่างจาก Outbound Marketing แบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง หากคุณอยากทราบว่าทั้งสองวิธีแตกต่างกันอย่างไรและควรเลือกใช้แบบไหนให้เหมาะกับธุรกิจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เปรียบเทียบความแตกต่าง Outbound กับ Inbound Marketing
Inbound Marketing มีลักษณะอย่างไร
Inbound Marketing มีลักษณะสำคัญ 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่
1.การมีส่วนร่วมของลูกค้า
เราต้องการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองด้วยตัวเองอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการเลือกสินค้า หากแบรนด์ต้องการเป็นที่ถูกเลือก แบรนด์ก็ต้องทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกเลือกด้วยการทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสารออกไป ซึ่งมีวิธีสื่อสาร 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่
วิธีที่ 1 การสื่อสารผ่านสื่อที่ลูกค้าเลือกติดตามได้ โดยมีตัวอย่างช่องทาง เช่น
- Social Media หากลูกค้าเห็นโพสต์ของเพจผ่าน Facebook และติดตามคอนเทนต์ต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดความชอบ ผู้ใช้ก็สามารถกดติดตามเพจเพื่อคอนเทนต์ได้เลย ไม่ต้องค้นหาใหม่
- Blog Subscriber เป็นวิธีที่แบรนด์ใช้เพื่อดึงลูกค้าให้เข้าเว็บไซต์มากขึ้น โดยการเขียน Blog Post ลงเว็บไซต์แต่เปิดให้อ่านได้บางส่วน ถ้าผู้ใช้อยากอ่านบทความเต็ม ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกเว็บเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการอ่านบทความเต็มได้
วิธีที่ 2 ตอบข้อสงสัยออกไปโดยไม่ต้องรอให้ถูกถาม โดยมีช่องทางตัวอย่าง เช่น
- SEO เมื่อลูกค้ามีปัญหา พวกเขาจะค้นหาวิธีแก้ไขหาผ่าน Search Engine แบรนด์จึงต้องนำ Keyword ของปัญหามาทำคอนเทนต์ SEO เพื่อให้ลูกค้าหาเจอและนำไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จะช่วยให้ลูกค้ารู้ว่าแบรนด์นี้ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้
- Landing Page คือเว็บไซต์หน้าหลักที่ลูกค้าจะเข้ามาเจอแบรนด์ และยังบอกลูกค้าให้รู้ว่าแบรนด์ขายสินค้าอะไร ซึ่งเป็นการโฆษณาไปในตัวด้วย หากลูกค้าสนใจก็สามารถคลิกหรือใส่รายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อได้
2.จุดยืนของแบรนด์
แบรนด์ที่เลือกการทำตลาดแบบ Inbound Marketing จะต้องการเล่าเรื่องของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจ ทำให้ลูกค้าเห็นตัวตนและจุดยืนที่ชัดเจน และคำตอบคือการสร้างคอนเทนต์ที่สามารถให้ประโยชน์แก่ลูกค้าได้นั่นเอง ซึ่งคอนเทนต์ดังกล่าวอาจจะเป็นการสร้างความประทับใจ การให้ความรู้หรือข้อมูลที่จำเป็น หรือแม้แต่การเข้าไปส่วนร่วมกับลูกค้าด้วยผ่านแคมเปญ ก็จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ของเรา
3.กลยุทธ์การตลาด
Inbound Marketing จะยึดการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก มีการใช้โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มในการเผยแพร่คอนเทนต์ร่วมกับเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเช่น
- การอัปเดตสเตตัสบน Facebook ให้ผู้ติดตามเห็นความเคลื่อนไหว
- การลงคลิปบน YouTube เพื่อเล่าเรื่อง หรือริวิวสินค้า
- การเขียน Blog เพื่อให้คนเข้ามาอ่านเรื่องที่อยากนำเสนอ
ซึ่งแต่ละแบรนด์จะต้องมีสไตล์การทำคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ชอบคอนเทนต์และรูปแบบการนำเสนอเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้
4.ข้อความที่อยากสื่อสาร
การทำคอนเทนต์จะต้องมีเนื้อหาที่เจาะจงเลยว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน เป็น Blog, Video หรือ Infographic และอยากสื่อสารเรื่องอะไร เช่น เล่าข่าว, ให้ความรู้ หรือโฆษณาสินค้า และที่สำคัญคือคนดูจะได้ประโยชน์อะไร เช่น ได้รู้ข้อมูลใหม่, หรือได้เห็นตัวอย่างการใช้สินค้าจริง ช่วยให้คนดูรู้จักแบรนด์และติดตามเพื่อดูคอนเทนต์ที่สนใจต่อ
5.การเผยแพร่คอนเทนต์
ข้อดีของการทำ Inbound Marketing คือแบรนด์เป็นเจ้าของสื่อ และสามารถควบคุมรายละเอียดของการเผยแพร่คอนเทนต์ได้เอง เช่น
- งบประมาณ กำหนดได้ว่าจะใช้เท่าไหร่ และใช้กับสื่อช่องทางไหนบ้าง
- ระยะเวลา กำหนดได้ว่าจะเผยแพร่ Ads นานแค่ไหน
- กลุ่มเป้าหมาย สามารถกำหนดรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายได้เลยว่าต้องการให้เข้าถึงลูกค้าเพศใด อายุเท่าไหร่ หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใด และต้องการให้เข้าถึงในปริมาณแค่ไหน
6.ข้อมูลและแหล่งที่มา
สิ่งสำคัญที่แบรนด์ได้จากการทำ Inbound Marketing นั่นคือการมีเครื่องมือที่ช่วยให้เราเก็บข้อมูลจากคอนเทนต์ที่เผยแพร่ได้อย่างละเอียดและเชื่อถือได้ ยกตัวอย่าง Google Analytics ที่จะเก็บข้อมูลผู้ใช้ที่เข้ามาในเว็บไซต์ โดยมีข้อมูลหลายอย่าง เช่น
- Audience Reports คือรายงานที่จะบอกว่าผู้ใช้ที่เข้าเว็บมาเพศอะไร อายุเท่าไหร่ และอยู่ที่ไหน
- Acquisition Reports คือรายงานที่จะบอกว่าผู้ใช้เข้าเว็บมาจากทางไหน เช่น มาจากการพิมพ์ชื่อเว็บไซต์โดยตรง การหาเจอบน Google หรือการคลิกลิงก์จากโซเชียลมีเดีย
Behavior Reports คือรายงานที่จะบอกว่าผู้ใช้เข้ามาในเว็บหน้าไหน และดูข้อมูลอะไร
Inbound Marketing มีหลักการใช้งานอย่างไร
แต่เดิม Inbound Marketing ถูกพัฒนาขึ้นมาให้มีหลักการใช้งานอยู่ 4 ขั้นตอน และต่อมามีการปรับปรุงเทคนิคให้เหลืออยู่ 3 ขั้นตอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.Attract
เริ่มจากแบรนด์จะต้องหาวิธีดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น “คนแปลกหน้า” (Strangers) ที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ให้มาเป็น “ผู้เข้าชม” (Visitor) ทางเว็บไซต์และ Social Media โดยมีตัวอย่างคอนเทนต์ เช่น
- Ads การทำ Ads จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายที่เห็นรู้ว่าแบรนด์ทำธุรกิจอะไร และมีสินค้าอะไรที่ลูกค้าสามารถคลิกเข้าไปเพื่อทำความรู้จักแบรนด์เพิ่มเติม
- Blog Post การเขียน Blog เล่าเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Traffic ผู้ใช้ให้กับเว็บไซต์ได้
- Video การเล่าเรื่องผ่านวิดีโอเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมกับคอนเทนต์และดึงดูดความสนใจได้ดีที่สุด
2.Engage
ถัดมาเมื่อกลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์ของเราแล้ว ให้เราเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากผู้เข้าชมให้มาเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของเรา โดยในขั้นตอนนี้ แบรนด์จะต้องสอบถามลูกค้าให้รู้ว่ามีปัญหาอะไรและเสนอวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าแบรนด์มีสินค้าที่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ดังนั้น หากแบรนด์สามารถเก็บข้อมูลของลูกค้า อาทิ ปัญหาที่เจอ ความต้องการ และงบประมาณ ได้ก็จะช่วยให้แบรนด์ได้ลูกค้าที่มีแนวโน้มซื้อสินค้า (Lead) และในบางกรณีก็เปลี่ยนจากลูกค้าที่สนใจให้เป็นลูกค้าที่ซื้อค้า (Customer) ได้เลย ซึ่งแบรนด์สามารถใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลลูกค้า เช่น
- Call-to-Action การเก็บข้อมูลของลูกค้าที่สนใจสินค้าของเราผ่านการทำคอนเทนต์ที่กระตุ้นความสนใจ และมีตัวเลือกให้ผู้ใช้ที่เห็นสามารถคลิกเข้ามาดูรายละเอียดเพิ่ม
- Chatbot เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับลูกค้าเบื้องต้นผ่านข้อความ และยังเป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลของลูกค้าเพิ่มเติม นอกจากการติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
- Forms มาถึงอีกตัวเลือกที่จะช่วยเก็บข้อมูลของลูกค้าโดยตรงนั่นคือการใช้ Forms จะช่วยให้ผู้ใช้ที่เห็นคอนเทนต์บนเว็บไซต์และสนใจ สามารถกรอกข้อมูลที่อยากติดต่อกับแบรนด์ได้เลย
3.Delight
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการสร้างความประทับใจที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่แบรนด์เปลี่ยนผู้สนใจให้มาเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้ว โดยการเปลี่ยนลูกค้าให้เป็นผู้ช่วยโฆษณาสินค้าของเราต่อไป แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น แบรนด์จะต้องสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าก่อน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองได้รับการดูแลอย่างดี เพราะเมื่อลูกค้ามีความรู้สึกนี้แล้วก็จะเริ่มบอกต่อสินค้าให้เอง โดยแบรนด์สามารถใช้ตัวอย่าง 3 วิธีในการสร้างความประทับใจ ดังนี้
- Survey การให้ลูกค้าทำแบบสอบถามหลังการซื้อสินค้าไปแล้วจะช่วยให้แบรนด์ได้ข้อมูลที่ต้องการมากที่สุด เพราะลูกค้าจะให้ข้อมูลทุกอย่างตามที่แบบสอบถามมี
- After-sales Service หากลูกค้ามีปัญหาหรือข้อสงสัยการใช้สินค้า แต่หาคำตอบด้วยตัวเองไม่ได้ งานบริการหลังการขายจึงเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ลูกค้าได้ ด้วยการตอบรับที่รวดเร็วและสามารถเสนอวิธีแก้ไขปัญหา เพราะหากแบรนด์สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ทัน สิ่งนี้จะช่วยสร้างคะแนนความประทับใจให้ลูกค้าได้มากเลยทีเดียว
- Social Monitoring Social Media เป็นช่องทางที่จะทำให้แบรนด์ได้รับความคิดเห็นของลูกค้าอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด หรือจะเรียกว่าเป็นช่องทางให้แบรนด์เห็นปัญหาของลูกค้าชัดเจนก็ว่าได้ ซึ่งแบรนด์รับรู้ได้จากการอ่านความคิดเห็นจากโพสต์บนหน้าเพจ และข้อความที่ส่งมาทาง Inbox ของเพจ
สรุปแล้ว Inbound Marketing คือกลยุทธ์การตลาดที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาหาแบรนด์ ด้วยหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ การดึงดูดลูกค้าให้รู้จักแบรนด์ ต่อด้วยการโน้มน้าวเพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้า และปิดด้วยการสร้างความประทับใจเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพอใจ อยากกลับมาซื้อสินค้าของแบรนด์ต่อไป ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์ใช้ต้นทุนน้อย บริหารจัดการง่าย และได้ผลตอบแทนสูง หากคุณสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการวางแผนและดำเนินการ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ กลยุทธ์การทำ Inbound Marketing
แหล่งอ้างอิง